ยินดีต้อนรับ สู่ ปักษ์ใต้เมืองพระ

ยินดีต้อนรับ สู่ พระเมือง ใต้เป็นบล็อกที่รวมเกี่ยวกับประวัติและวัตถุมงคลของพระในภาคใต้ ที่เป็นที่รู้จัก และไม่ค่อยรู้จัก
เป็นเว็บที่รวบรวมพระเครื่อง พระเหรียญ ดังๆ ต่างๆในภาคใต้เอาไว้

วันอังคารที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2555

ทำใจให้สงบกับเสียงสวดมนต์กันนะครับ อยากได้ข้อมูลอะไรบอกได้นะครับ


ใครอยากได้ข้อมูลพระรูปไหน เหรียญรุ่นไหนนะครับแสดงความเห็นเลยครับ
ผมจะหามาให้อย่างรวดเร็วครับ

วันพฤหัสบดีที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2554

หลวงพ่อสงฆ์ จันทสโร วัดเจ้าฟ้าศาลาลอย

ประวัติ หลวงพ่อสงฆ์ จันทสโร วัดเจ้าฟ้าศาลาลอย
         


หลวงปู่สงฆ์ เป็นนามที่ ชาวกรุงเทพมหานคร เรียกชื่อท่าน ด้วยความ เคารพ เลื่อมใส ท่านเป็นพระคณาจารย์ สมถวิปัสสนา ที่ชาวจังหวัดชุมพร และชาวกรุงเทพๆ ภูมิใจเป็นหนักหนา หลวงปู่ท่าน มีความเมตตาปรานีแก่ทุกๆคน ไม่เลือกชั้นวรรณะ ถ้าแม้บุคคล ใดไปขอพรจากท่านแล้ว จะได้รับความสมหวังอย่างมั่นคง ด้วยทุกคนเชื่อว่า ท่านหลวงปู่สงฆ์ มีวาจาศักดิ์สิทธิ์ยิ่งนัก หลวงปู่สงฆ์ ท่านเป็นคนชาว จังหวัดชุมพร โดยกำเนิด ท่านเกิด ที่หมู่บ้านวิสัยเหนือ อ.สวี จ.ชุมพร เมื่อวันอังคาร เดือน ๖ ขึ้น ๑ ค่ำ ปีขาล พ.ศ.๒๔๓๓ บิดา ชื่อ นางแดง มารดาชื่อ นางนุ้ย มีอาชีพทำนา-ไร่สวน อายุได้ ๑๘ ปี ท่านได้บรรพชาเป็น สามเณร ที่วัดสวี อันเป็นวัดใกล้ๆบ้านเกิดท่าน
         เมื่อบวชเป็นสามเณรแล้ว ท่านก็ได้ศึกษาพระธรรมวินัยอยู่ ๒ ปี จึงได้ลาสึก ออกไปช่วยบิดา มารดา ประกอบอาชีพทำงานท้องนาและไร่สวน ครั้นอายุครบอุปสมบท ท่านได้มาฝากตัวแก่พระอุปัชฌาย์ ที่วัดสวี ขอบวชเป็น พระภิกษุสงฆ์ ได้รับความเมตตาจาก พระอาจารย์ชื่น เป็นพระอุปัชฌาย์ ให้ฉายาว่า "จันทสโรภิกขุ" หลังจากบวชเป็นพระแล้ว ท่านได้ไปอยู่จำพรรษาที่วัดควน อ.สวี จ.ชุมพร ๑ พรรษา ในระหว่างพรรษา ท่านได้ศึกษาพระธรรมวินัยเพิ่มเติม จนพอรู้แนวทางการ ดำเนินชีวิตในเพศพรหมจรรย์ ออกพรรษาแล้ว ท่านมีความสนใจทางสมถกรรมฐาน และวิปัสสนากรรมฐาน แต่ในจังหวัดชุมพร ไม่มีพระอาจารย์สอนทางด้านนี้เลย ท่านจึงกราบลาพระอุปัชฌาย์ -อาจารย์ ออกจากจังหวัดชุมพร มุ่งหาพระอาจารย์สอนกรรมฐานในถิ่นอื่นๆ โดยได้ออกเดินทางไปท่ามกลางป่าเขาอย่างไม่มีจุดหมายปลายทาง เพราะท่าน ยังไม่รู้จักคำว่า " เดินธุดงค์" ในสมัยนั้น แต่หลวงปู่สงฆ์ มีความแน่ใจว่า การเดินทางอยู่ในป่าดงพงไพรนี้ จะต้องพบกับ พระผู้ปฏิบัติบ้าง เพราะพระกรรมฐานชอบอยู่ป่าดง มากกว่า อยู่วัดวาอาราม หลวงปู่สงฆ์รอดพ้นจากอันตรายรอบด้าน เช่น สัตว์ป่า ไข้ป่าอันดุร้ายไปได้ ก็เพราะแรงใจที่มุ่งปฏิบัติธรรม กับพระอาจารย์องค์ใดองค์หนึ่ง เมื่อพบก็จะมอบตัวเป็น ศิษย์ ขอฝึกอบรมด้วยเท่านั้น
         หลวงปู่สงฆ์ประสบความสมหวัง เมื่อได้ทราบว่า .... พระอาจารย์รอด วัดโต๊ะแซ หรือตอแซ เป็นพระอาจารย์ที่ทรงฌานสมาบัติสูงองค์หนึ่ง ในจังหวัดภูเก็ต ท่านจึงได้ไป ฝากตัวเป็นศิษย์ ขอฝึกอบรม ปฏิบัติพระกรรมฐาน อยู่กับพระอาจารย์รอด ๒ พรรษา หลวงปู่สงฆ์ มีความพากเพียร อย่างคร่ำเคร่ง มีสมาธิแก่กล้า สามารถในทาง ปฏิบัติมากแล้ว ท่านพระอาจารย์รอด ได้ให้ออกเดินธุดงค์ไปอยู่ป่าช้า ตามถ้ำผาป่าดง ต่อไป เพื่อความรุ้แจ้งในจิตใจ และจะได้ปรารภธรรมตามสติปัญญา หลวงปู่สงฆ์เดินธุดงคกรรมฐานไปจนถึงชายแดนด้านมาลายู จากนั้นท่านก็ ได้เดินธุดงค์ ย้อนกลับมาจนถึงจังหวัดเพชรบุรี
         หลวงปู่สงฆ์ จนฺทสโร ท่านมีความชำนาญในเรื่องสมถกรรมฐานและวิปัสสนา กรรมฐานมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สมัยก่อนโน้น ทางภาคใต้ นับตั้งแต่จังหวัดชุมพรลง ไป ครูบาอาจารย์ต่างๆ มักจะสนใจปฏิบัติสมถกรรมฐานแล้ว เดินจิตเล่นฤทธิ์ กันเสีย โดยส่วนมาก สำนักเรียนวิชาต่างๆ ภายใน(จิต) สำนักเขาอ้อ มีชื่อเสียงมากในเรื่องนี้ แต่ หลวงปู่สงฆ์ ก็ดี หลวงปู่หมุนก็ดี ตามที่มีชื่อเสียงโด่งดังอยู่ในปัจจุบันนี้ ท่านสามารถหัน เข้ามาดำเนินจิตสู่วิปัสสนากรรมฐานเสีย เพราะเป็นหนทางออกจากความยึดมั่น ในอำนาจจิต อำนาจฌานได้อย่างสิ้นเชิง เป็นความจริงดังนี้
         ต่อมาหลวงปู่สงฆ์ ท่านเกิดสติปัญญา มองเห็นภัยในวัฎสงสาร ที่มันเคย แปรปรวน หมุนเวียน ไม่รู้จบ ท่านเกิดเบื่อหน่าย คิดดำเนินชีวิตในป่าดงพงไพร ทำจิต เร่งบำเพ็ญเพียร เพื่อความพ้นทุกข์ การเดินธุดงคกรรมฐานของครูบาอาจารย์นั้น มิใช่ว่าจะเดินไปในที่แห่งหนึ่ง แล้วไปในที่แห่งหนึ่ง พึงรีบเดินเพื่อให้ถึงเร็วๆนั้น หาไม่ แต่การเดินธุดงค์ก็เหมือนการเดินแบบปกติ หรือเดินจงกรมนั่นเอง ท่านเดินอย่างมีสติ .... คือ ขณะที่ก้าวเดินไปนั้น ท่านกำหนดคำบริกรรม หรือพิจารณาธรรมไปเรื่อยๆ โดยไม่นับก้าวแต่อย่างใด ท่านเดินด้วยสติ แม้อะไรจะเกิดขึ้นมาในช่วงนั้น ท่านก็รู้ชัด ไม่มีอาการของ จิตแส่ส่ายไปมา เพราะสติเป็นกำลังอันสำคัญขณะทำความเพียร เช่นอิริยาบถ ยืน เดิน นั่ง นอน หลวงปู่สงฆ์ จนฺทสโร ท่านได้อาศัยชีวิตอยู่ในป่าดงเป็นเวลาหลายปี อาศัยโคน ไม้ ถ้ำผาต่างๆ เป็นที่พักผ่อน ไม่มีความอาลัยในชีวิตว่าจะสุข หรือทุกข์ ท่านมุ่งปฏิบัติธรรม เพื่อความรู้ธรรม
         เมื่อรู้ธรรมแล้ว ท่านก็นำธรรมะนั้น มาสอนจิตสอนใจตนเอง ขัดเกลา กิเลส ตัณหา อุปาทาน ซึ่งเป็นสมบัติประจำสันดานมนุษย์ ให้หลุดให้ลอกออกไปจากจิตใจ ชำระจิตใจด้วยธรรม เพื่อความสะอาดหมดจดแห่งชีวิต ๗ ปี แห่งการทรมานกิเลส ภายในจิตใจของท่าน ซึ่งไม่เคยออกจากป่าสู่เมือง เลย ทำให้สภาพจิตสดใสแจ่มแจ้งในธรรมะ แต่สภาพสังขาร ดูออกจะเป็นฤาษีชีไพร หนวดเครารุงรัง ผมเผ้ายาว จีวร สบง ขาดรุ่งริ่ง นั่งภาวนาในป่าเมืองชุมพร คล้ายกับวาสนาท่านจะต้องมาอยู่วัดเจ้าฟ้าศาลาลอย จึงมีชาวบ้านป่า เดินตามนกตัวหนึ่ง ที่ร้องเป็นภาษามนุษย์ว่า " หนักก็วางเสีย ! หนักก็วางเสีย " ชาวบ้านป่า เดินตามนก จนพบหลวงปู่สงฆ์ และได้นิมนต์มาอยู่วัดร้างแห่งนั้น หลวงปู่สงฆ์ จนฺทสโร ท่านเป็นพระภิกษุสงฆ์ ที่มีความอดทน ค้นคว้า สัจธรรม ความเป็นจริง ของพระพุทธเจ้า ด้วยชีวิตเป็นเดิมพัน ๑๐ พรรษา ท่ามกลางป่าดง ท่านอาศัยภูเขาลำเนาไพรมาโดยตลอด การบิณฑบาต ท่านโคจรไปในหมู่บ้านชาวป่า ได้บ้างอดบ้าง ตามอัตภาพ จนมีความพอดีแก่จิตใจ ปล่อยวางของหนักได้หมดสิ้นแล้วอย่างมั่นใจ
         ท่านจึงออกจากป่า สู่วัดร้างแห่งหนึ่ง ท่านได้จำพรรษาก่อสร้างวัดร้างแห่งนั้น จนเจริญรุ่งเรืองในปัจจุบัน โดยขนานนามว่า วัดเจ้าฟ้าศาลาลอย อ.เมือง จ.ชุมพร หลวงปู่สงฆ์ จนฺทสโร ท่านเป็นพระผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบองค์หนึ่ง ในจังหวัดชุมพร บัดนี้ท่านได้วางแล้วซึ่งขันธ์อันหนักหน่วงของท่าน และได้ทิ้งรากฝากความดีงามให้แก่ชนรุ่นหลังระลึกถึง ณ วัดเจ้าฟ้าศาลาลอย
สิ่งมงคลและยาวิเศษ
         สิ่งอันเป็นมงคลที่หลวงปู่สงฆ์ จันทสโร อนุเคราะห์ชาวบ้านที่ได้รับความทุกข์ร้อน โรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ เมื่อมาหาท่าน ท่านจะอนุเคราะห์ช่วยเหลือจนหายจากโรคภัยไข้เจ็บโดยสิ้นเชิง และสิ่งของที่ท่านมอบให้นั้นก็ไม่กี่บาท ขอยกให้เห็นชัดดังนี้ ที่ข้าง ๆ บันไดกุฏิของท่านจะมีตุ่มใส่น้ำมนต์ตั้งไว้ใบหนึ่ง ท่านจะลงมาจากกุฏิทำน้ำมนต์ ในเวลากลางคืนแล้วนำมาใส่ตุ่มไว้ ตอนเช้ามืดอีกครั้งหนึ่ง ท่านจะลงมาเทใส่ตุ่มที่หมดทุกวัน ๆ น้ำมนต์ในตุ่มนั้นจะมีผู้ที่รู้แหล่งเข้ามาขอตักไปบูชาหรือดื่มกิน น้ำมนต์ของหลวงปู่สงฆ์เป็นสิ่งมงคลที่มีความขลัง และศักดิ์สิทธิ์ สามารถอาราธนาให้เกิดผลในสิ่งที่ตนปรารถนาได้ทุกประการตามแต่คำอธิษฐานจิตของผู้ใช้ โอ่งน้ำมนต์ของท่านเรียงรายอยู่ตามบันได ทางขึ้นลงกุฏิทั้งด้านซ้ายด้านขวา แท้จริงถ้ามองเผิน ๆ มันจะเป็นโอ่งน้ำล้างเท้า แต่ทว่าไม่ใช่ เพราะคนสมัยนี้สวมรองเท้า ไม่ได้มาเท้าเปล่าแล้วมาล้างเชิงบันได เมื่อตื่นขึ้นตอนเช้าหลวงปู่จะทำน้ำมนต์ มาเทลงในโอ่ง ท่านทำอย่างนี้ทุกวัน
         น้ำมนต์ไล่ผีอย่างเห็นได้ชัด ครั้งหนึ่งมีคนแถวสามแก้วได้พาลูกสาวซึ่งมีอาการเหมือนถูกผีเข้าสิง ดิ้นทุรนทุรายร้องเอะอะเสียงดัง ญาติผู้ชายร่างกายแข็งแรงต้องช่วยกันพามาที่วัด มานั่งรออยู่เชิงบันได เพราะบนกุฏิหลวงปู่นั้น ผู้หญิงขึ้นไม่ได้ แล้วพ่อของเด็กก็ขึ้นไปเล่าอาการให้ฟัง เมื่อได้ฟังอาการแล้วหลวงปู่ก็เดินมาที่หน้ากุฏิมองลงมาที่เด็กสาวคนนั้น ชายสองคนจับแขนเอาไว้แน่น ขณะที่เด็กสาวสะบัดจะให้หลุด ปากก็ร้องเสียงดังเอะอะ หลวงปู่มองดูสักครู่ท่านก็ร้องบอก นิ่งเสียบ้างซิ”
         เด็กสาวที่ร้องครวญครางส่งเสียงดังก็หยุดชะงักลงทันทีเมื่อสิ้นเสียงหลวงปู่ที่พูดลงมา สักครู่ก็ร้องอีก นายสร้าง คนติดตามหลวงปู่มานานหลายปีได้ยื่นขันน้ำที่ตักจากในโอ่งบนกุฏิส่งให้ หลวงปู่หยิบขันน้ำมาก็เทโครมลงมาทันที ถูกร่างของเด็กสาวคนนั้นอ่อนแรงจนนอนราบเรียบสงบ หลวงปู่หันหลังกลับเข้ากุฏิ สักครู่เด็กสาวคนนั้นก็ลุกขึ้นงัวเงีย อาการผิดปกติหายไปราวกับปลิดทิ้ง น่าสังเกตตรงที่ว่า น้ำที่นายสร้างตักใส่ขันความจริงเป็นน้ำดื่มกินธรรมดา เมื่อหลวงปู่รับขันมาท่านก็เทโครมทันที ไม่ได้เสกหรือเป่าใด ๆ ทั้งสิ้น ถ้าเป็นรูปแบบของคณาจารย์อื่น ๆ จะต้องมีการเสกการเป่าเสียก่อน แต่หลวงปู่ไม่ต้อง ได้มาเททันที
         เรื่องของการใช้น้ำมนต์ไล่ผีเข้าเจ้าสิงของหลวงปู่นั้นโด่งดังอยู่ ดังนั้นน้ำมนต์ของหลวงปู่จึงมีคนต้องการมาก
ยาเส้น
ตามปกติหลวงปู่สงฆ์ท่านชอบใช้ยาเส้นสีปากแล้วอมเอาไว้ ดังนั้นยาเส้นที่ท่านใช้แล้วเหล่านั้น จะกลับกลายเป็นของวิเศษ เป็นของที่มีมงคลศักดิ์สิทธิ์ คือ กลายเป็นของขลังอย่างยอดเยี่ยม สมัยก่อนนั้น คนที่ไปวัดเจ้าฟ้าศาลาลอยจะหายาเส้น ไปสักจำนวนหนึ่ง บางคนก็เอาไปเป็นห่อ แล้วก็ให้หลวงพ่อเสกให้ต่อจากนั้นก็นำมาเป็นวัตถุมงคลติดตัว ต่อมาทางวัดมีความคิดดีนำเอายาเส้นอัดพลาสติกห้อยคอ ทำเหมือนกับลูกอม ปิดทองอีกด้วย เพราะยาเส้นโด่งดังและเป็นที่ต้องการของผู้ที่เข้าวัดเจ้าฟ้าศาลาลอย เรื่องมันมีอยู่ ค่อนข้างเกรียวกราวในชุมพร คือ ครั้งหนึ่ง ได้มีคนมาหาหลวงปู่ ท่านก็มอบยาเส้นไปให้ ยาเส้นนี้เดิมทีเป็นของใช้ประจำวันของหลวงปู่ ท่านเอามาสีฟัน คนที่เคารพนับถือเห็นว่าอะไรก็ตามที่ท่านใช้ย่อมจะเป็นมงคลทั้งสิ้น ก็เลยขอยาเส้นท่านไป เมื่อได้แล้วก็นำไปไว้ในเซฟ รวมกับเอกสารและของมีค่า เขาถือว่า ยาเส้นของหลวงปู่ เป็นของมีค่าด้วยชนิดหนึ่งต้องเก็บรักษาไว้ให้ดี หลังจากนั้นไม่นานนักขโมยเกิดเข้าบ้านชายคนนี้ เมื่อมันเปิดเซฟออกมา มันก็เบือนหน้า เพราะในเซฟไม่มีสมบัติอะไรเลย ภายในเซฟมีแต่ยาเส้นกองเต็มไปหมดไม่มีของมีค่า
         แต่แล้วคนพวกนี้ก็ไปไม่รอด โดนจับได้ ของกลางไม่มีอะไร เพราะมันไม่ได้อะไรไปเลย บอกกับตำรวจเพียงว่า“ในเซฟมีแต่ยาเส้น ใครจะเอาไปทำไม” ความจริงยาเส้นในเซฟนั้นมีเพียงก้อนเล็ก ๆ ขนาดเท่าหัวแม่มือเท่านั้น แปลกใจทำไมมันจึงมองเห็นว่ามีมากมายไปได้หรือจะเป็นเพราะ อภินิหารยาเส้นมงคลของหลวงปู่ ยาเส้นของหลวงปู่นั้นแท้จริงก็คือ ยาเส้นที่หลวงปู่ชอบอมเอาไว้ หรือเรียกกันแบบภาษากลางว่า ถุนยา คือเอายาเส้นใส่ปากอมเอาไว้ เมื่อมีคนอยากได้ บางคนขอเอาจากปากท่านเลยก็มี ท่านก็คายออกใส่มือที่แบรออยู่
น้ำปลา...ยาวิเศษ
         เรื่องนี้ได้ทราบจากชาวบ้านจังหวัดนครศรีธรรมราช เมื่อหลายปีมาแล้วว่า เขาปวดท้องมานาน ๑๐ กว่าปี ไปรักษาที่ไหนตามโรงพยาบาลต่าง ๆ เสียเงินไปเป็นแสนบาท นายแพทย์เก่งขนาดไหนก็รักษามาแล้ว ที่ไหนว่าเก่ง ๆ พอเจอโรคของบุคคลนี้เข้า ยอม กลัว รักษาไม่หาย ต่อมาได้ยินเขาเล่าลือว่าทางจังหวัดชุมพรมีพระที่วิเศษรูปหนึ่ง เคยรักษาโรคมาเป็นพันๆ คน และก็หายจนหมดสิ้นทุกคนคนป่วยจึงได้หอบสังขารชนิดผอมติดกระดูกมาหา หลวงปู่สงฆ์ นี่แหละ ทันทีที่เห็นหน้าหลวงปู่สงฆ์ คนป่วยก็มีความรู้สึกศรัทธาอย่างมากมาย ขนลุกขนพองอยู่ตลอดเวลา แม้ท่านจะกลับเข้ากุฏิไปแล้วก็ตาม ศิษย์ของท่านจึงนำน้ำปลาไปให้ท่านเพ่งกระแสจิตให้สัก ๑๐ นาที แล้วนำน้ำปลานั้นมาให้และบอกว่าให้กินน้ำปลานี้ ยาอื่นท่านบอกว่าไม่ต้องกินแล้ว ถึงกินก็ไม่หาย ด้วยความศรัทธาในองค์หลวงปู่สงฆ์ หญิงคนนั้นจึงเปิดขวดน้ำปลาดื่มเข้าไป แม้ว่าน้ำปลาจะมีรสเค็มจริงอยู่ แต่เวลาน้ำปลาผ่านลำคอไปแล้ว รู้สึกเย็น ๆ พอไปถึงท้องแล้วอาการปวดท้องเสียด ๆ นั้นก็หายเป็นปลิดทิ้ง ไม่เกิดขึ้นอีกเลย เกิดความตื้นตันขึ้นมา ดื่มเข้าไปอีกต่อหน้าลูกศิษย์หลวงปู่สงฆ์ มีอาการยิ้มแย้มฉายให้เห็นท่าทีว่า อาการภายในสงบ ภายนอกก็แจ่มใส ผู้ป่วยนั้นก็ก้มลงกราบตรงเชิงบันไดกุฏิของหลวงปู่สงฆ์ แล้วได้ร่วมทำบุญกับวัดเจ้าฟ้าศาลาลอยด้วยความศรัทธาแล้วจึงลากลับบ้านของตน
         สำหรับชาวบ้านจะนำน้ำปลาเอามาให้หลวงปู่สงฆ์เสกเป่าเป็นมงคลขึ้น เสร็จพิธีแล้วน้ำปลาจะเป็นของศักดิ์สิทธิ์ มีความขลังในการรักษาโรคผิวหนัง แผลเน่าเปื่อยได้ชะงัดดีนัก โดยเฉพาะผู้ที่ติดยาเสพติด น้ำปลาของหลวงปู่สงฆ์จะรักษาได้เป็นอย่างดี นับเป็นสิ่งมงคลในการรักษาโรคภัยอย่างไม่เคยมีผู้ใดกระทำมาก่อน
น้ำล้างบาตร
น้ำล้างบาตร นับเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์อีกอย่างหนึ่ง ซึ่งเมื่อท่านฉันภัตตาหารเสร็จแล้ว ท่านจะเอาน้ำใส่บาตรเพื่อล้าง ผู้ประสงค์ก็จะคอยรับน้ำล้างบาตรกัน เมื่อผู้ใดได้น้ำล้างก้นบาตรแล้ว ก็จะนำเอาไปอธิษฐานบารมีเป็นที่พึ่ง เพื่อนำไปรักษาโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ แล้วก็ได้รับความสำเร็จทั่วหน้า
         เรื่องน้ำล้างบาตรของหลวงปู่สงฆ์ นี้ ก็มีเรื่องเล่ากันว่ามีสุภาพสตรีผู้หนึ่ง มีกิจการโรงแรมในจังหวัดชุมพร ได้เดินทางมาที่ วัดเจ้าฟ้าศาลาลอย และได้ขอน้ำล้างก้นบาตรจากหลวงปู่สงฆ์ เพื่อจะเอาไปแก้โรคภัยไข้เจ็บชนิดเรื้อรังที่กำลังเป็นอยู่ในขณะนั้น เมื่อได้น้ำก้นบาตรใส่ขันใบใหญ่แล้ว เธอก็นั่งรถกลับจังหวัดชุมพร แต่ขณะนั่งรถมาระหว่างทางเธอได้พิจารณาดูน้ำล้างบาตรในขันที่ใส่มา เห็นเม็ดข้าวขาว ๆ และชิ้นเศษอาหาร ลอยปะปนอยู่ ดูสกปรกน่ารังเกียจ ก็เกิดเสื่อมความศรัทธาขึ้นมา และไม่เชื่อว่าน้ำล้างก้นบาตร นี้จะรักษาโรคได้จริง คิดได้ดังนั้นก็หยิบยกขึ้นมาเทลงข้างทางเสีย แล้วก็นั่งรถกลับมาถึงบ้าน คืนนั้นขณะกำลังนอนหลับอยู่ พอเริ่มเคลิ้ม ๆ หลับได้นิดเดียวก็รู้สึกคันระยิบระยับไปทั้งตัวเป็นที่น่าสงสัยนัก เธอผู้นั้นจึงลุกขึ้นไปเปิดไฟดูก็พบว่า หนอนตัวขาว ๆ จำนวนมากมาย ไต่ตามตัว และที่นอนยั้วเยี้ยเต็มไปหมด สตรีผู้นั้นตกใจและขยะแขยงแทบเป็นลม จึงร้องเรียกคนรับใช้ให้มาช่วยกันกวาดเอาตัวหนอนขาว ๆ เหล่านั้นออกมาจากห้องไปทิ้งเสีย สตรีผู้นั้นก็มิได้สนใจคิดอะไร ล้มตัวลงนอนต่อไป พอเกือบจะเคลิ้มๆ ได้สักเล็กน้อยก็รู้สึกเจ็บ รู้สึกว่าหนอนยังมีหลงเหลืออยู่อีกแต่ครั้งนี้ไม่เหมือนครั้งแรก จึงรีบเปิดไฟฟ้าขึ้นดู ทีนี้พบหนอนสีขาวๆ มากมายกว่าเก่า มีขนขึ้นเต็มตัว
         สตรีผู้นั้นเกิดความกลัวสุดขีด จึงวิ่งหนีออกมานอกห้องนอน แล้วเรียกคนใช้ออกมาให้กวาดหนอนไปทิ้งอีก คนใช้ทุกคนรีบกวาดหนอนตัวขาวๆ นั้นมารวม ๆ กัน เพราะครั้งนี้ดูมันคลานกันเต็มห้องไปหมด แต่ยังมิได้เอาไปทิ้งก็เกิดเหตุที่ทำให้ตกตะลึงอยู่ กับที่ฝูงหนอนดังกล่าวกลับกลายเป็นเมล็ดข้าวสารขาว ๆ ไปทั้งหมด แม้จะเป็นเมล็ดข้าวสารก็จริง แต่ ใจยังหวาดผวาด้วยความอัศจรรย์นั้นอยู่ ครั้นแล้วสตรีผู้นั้น เมื่อหายจากอาการตกตะลึง ก็รู้ได้ทันทีว่าอะไรเป็นอะไร รู้สึกสำนึกว่าตนเองได้ทำความผิดไว้อย่างมหันต์ที่คิดลบหลู่ดูหมิ่น น้ำล้างก้นบาตร ของ หลวงปู่สงฆ์เมื่อตอนกลางวันนี้ โดยนำน้ำก้นบาตรเททิ้งข้างทาง ดังนั้นสตรีผู้นั้นจึงจุดธูปเทียนขึ้นบูชา กล่าวคำอโหสิกรรมโทษที่ตนล่วงเกินด้วยความเกรงกลัว จากนั้นก็ไม่ปรากฏว่ามีหนอนมารบกวนอีกเลย สามารถนอนหลับได้อย่างสบายตลอดรุ่งเช้า
กวางน้อย
         มีชาวบ้านคนหนึ่งได้นำลูกกวางมาถวายให้หลวงปู่ เป็นลูกกวางตัวผู้ ยึดถือหลักเอาไว้อย่างหนึ่งคือ ไม่ว่าคนหรือสัตว์ตัวเมียท่านจะไม่เลี้ยงเลย กวางน้อยตัวนี้กำลังซน หลวงปู่ก็เอาชายจีวรที่ท่านฉีกมาผูกคอไว้ มันก็เที่ยวของมันไปตามประสา เพราะไม่ได้ผูกมัดแต่อย่างใด บางครั้งไปกินพืชผักของใครเข้า เจ้าของโกรธไล่ตี มันก็วิ่งหนีกลับเข้าวัด เพราะความเกเรซุกซนของมันนี่แหละ โดนดีเข้าจนได้ มีคนเอาปืนลูกซองยิงมัน แต่ทว่าด้าน ยิงไม่ออกหลายครั้ง จนลือกันว่า กวางตัวนี้หนังมันดี ยิงไม่ออก วันหนึ่งมันออกไปกินยอดพลูของครูคนหนึ่งเข้าที่บ้านข้างวัด ครูคนนั้นก็เอาไม้ไล่ตี ปากก็ตะโกนด่าด้วยถ้อยคำหยาบคาย ตกกลางคืน กวางตัวนี้ ชื่อไอ้น้อย ก็แอบเข้ามากินยอดพลูที่เหลือหมดที่ปลูกเอาไว้ ครูนั้นโกรธมาก มาเล่าเรื่องแบบฟ้องหลวงปู่ ท่านก็หัวเราะพูดลอย ๆ ว่า “ก็ครูอยากไปด่ามันทำไม ไอ้น้อยไม่ชอบให้ใครด่า” ครูเก็บเอาความแค้นไว้ในอกเงียบ ๆ หลังจากนั้นได้ไปติดต่อกับคนรับซื้อสัตว์ป่า เพื่อจะขโมยไอ้น้อยกวางหลวงปู่มาขาย สมคบกับอีกคนหนึ่งเตรียมขโมยไอ้น้อย แล้ววันนั้นไอ้น้อยก็รับกรรม ถูกจับตัวเอาขึ้นบนรถไปหมายจะนำไปขายในกรุงเทพ ฯ บนรถบรรทุกไอ้น้อยมานั้นมีสัตว์ป่าอีกหลายตัวรวมอยู่ด้วย รถได้แล่นออกมาจากชุมพรจวนจะถึงเขาหินช้าง เกิดยางแตก กำลังเปลี่ยนยางอยู่นั้น ไอ้น้อยกวางหลวงปู่ก็หลุดหนีออกมาได้ ไอ้น้อยได้ไปเที่ยวอยู่แถว ๆ พ่อตาหินช้าง บ้านยายไท แถวน้ำตกกะเปาะอำเภอท่าแซะ อยู่ระยะหนึ่ง
         จนกระทั่งวันหนึ่ง ขณะที่ไอ้น้อย กำลังเที่ยวหาอาหารอยู่ในเวลาเช้า ไอ้น้อย หารู้ตัวไม่ว่า ความตายกำลังจะมาเยือนมันอยู่แล้ว ขณะที่มันกำลังเพลิดเพลินเล็มยอดไม้อยู่นั้น ก็ได้มีชายผู้หนึ่ง ชื่อว่า นายหวิน กำลังจะยัดเยียดความตายให้กับไอ้น้อย ด้วยอาวุธปืน นายหวินได้สับไกปืน เพื่อทีหวังจะล้มไอ้น้อยให้ได้ แต่ ๒ ครั้ง ๓ ครั้งแล้ว กระสุนของนายหวินก็ไม่ระเบิด แต่ทำไมจึงทำอะไรไอ้น้อยไม่ได้ “มันกวางอะไร กวางของใคร ทำไม่จึงยิงไม่ออก แปลก” นายหวินรำพึงรำพันอยู่ในใจ ขณะที่นายหวินครุ่นคิดอยู่นั้น สายตาไปเหลือบเป็นผ้าสีเหลือง คือผ้าพระผูกอยู่ที่คอของไอ้น้อย ด้วยความมั่นใจในฝีมือตัวเอง ประกอบกับดวงของได้น้อยมันถึงฆาต เหมือนกับคำที่กล่าวว่า“ถึงคราวตายแน่นอน ทางแก้ไม่มี ตายแน่เราหนีกันไปไม่พ้น จะเป็นราชาหรือมหาโจร ต้องทิ้งกายสกนธ์สู่เชิงตะกอน” นายหวินได้เข้าไปปลดผ้าสีเหลืองที่ผูกคอไอ้น้อยไว้ ซึ่งเป็นเศษผ้าจีวรของหลวงปู่ออกจากคอไอ้น้อย
         อนิจจาความตายกำลังจะมาเยือน ไอ้น้อย เมื่อดวงมันถึงฆาต มันก็ทำอะไรไม่ถูก ธรรมดาแล้วมันไม่ค่อยจะให้ใครเข้าใกล้ตัวมัน ยกเว้น หลวงปู่ และกับคนที่มันรู้จักมักคุ้นเท่านั้น แต่เพราะสัตว์มันไว้ใจคน หารู้ไม่ว่า คน ๆ นั้นกำลังจะหยิบยื่นความตายให้ นายหวินปลดผ้าเหลืองออกจากคอไอ้น้อยแล้วก็รีบวิ่งกลับไปยังบริเวณที่ได้เอาปืนพิงไว้กับต้นไม้ใหญ่ เบนลำกล้องปืนกลับมาสู่ตัวไอ้น้อยอีกครั้ง พร้อมกับลั่นไก “ปัง” เสียงปืนดังแน่นคับราวป่า ผู้ชำนาญเสียงปืน ถ้าได้ยินเสียงก็บอกได้ว่า กระสุนเข้าเป้าอย่างแน่นอน ไอ้น้อยล้มทั้งยืน ในขณะที่ปากของมันยังคาบยอดไม้อ่อนอยู่ แต่ว่ามันไม่มีโอกาสที่จะได้เคี้ยวอีกต่อไป เลือดแดงฉานทะลักออกมาจากท้องราวกับสายน้ำ ตาของไอ้น้อยค้าง แต่หากมันมีความรู้สึกสักนิด ก็จะสงสัยว่า “ทำไมวันนี้จึงสั้นเสียเหลือเกิน เรากินอาหารมื้อเช้ายังไม่ทันอิ่ม ก็มืดเสียแล้ว” โอ้อนิจจาความตายไม่เคยเว้นใคร แม้แต่สัตว์เดรัจฉาน ฝ่ายนายหวิน มือเพชฌฆาต ดีอกดีใจที่ได้ล้มไอ้น้อยลงได้ใครล่ะจะแน่กว่าเรา ภรรยาของหวิน อยู่ที่บ้านตกใจ โดยไม่รู้สาเหตุ ตะโกนบอกเพื่อนบ้านใกล้เคียงว่า "หวินยิงกวางหลวงปู่ หวินยิงกวางหลวงปู่" ทั้ง ๆ ที่มิเห็นกับตา เพื่อนบ้าน เมื่อได้ยินดังนั้น ก็พากันไปดู พบหวินกำลังชำแหละเนื้อกวางตัวนั้นอยู่ บางคนก็คิดอยากจะช่วย แต่ในขณะนั้นเอง กลิ่นอุจจาระก็ส่งกลิ่นตลบอบอวน โดยไม่ทราบสาเหตุที่ไปที่มาของกลิ่นอันไม่พึงประสงค์ หวินและเพื่อนบ้านช่วยกันตรวจสอบ ก็พบว่ากลิ่นนั้นมาจากซากกวางที่ถูกยิงนั้นเอง ในที่สุด ก็ไม่มีใครเอาเนื้อนั้นไปได้เลยแม้แต่น้อย เพราะเหมือนจะเหม็นจนไม่มีใครกล้าเข้าไปแตะต้อง
         ฝ่ายหวินเอง เมื่อเห็นเหตุการณ์เป็นเช่นนั้นก็เริ่มตกใจกลัวจนใจเตลิดเปิดเปิง กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่า “กวางที่ตัวเองล้มกับมือ กลายเป็นอุจจาระไปได้อย่างไร” สติวิปลาสขึ้นในบัดดลนั้นเอง วิ่งเตลิดเปิดเปิงกลับบ้านไม่ถูก เพื่อนบ้านกับภรรยาของหวิน เมื่อทราบดังนั้นจึงได้ไปบอกกล่าวขอโทษหลวงปู่ ที่วัดเจ้าฟ้าศาลาลอยว่า “หวินมันยิงกวางเสียแล้วล่ะ หลวงปู่” หลวงปู่ก็กล่าวว่า “คนยิงมันบ้า”  นายหวินก็บ้าไม่ได้สติตั้งแต่บัดนั้นจนทุกวันนี้ จะด้วยกรรมที่หวินทำลงไปหรืออะไร เราเองก็ไม่ทราบได้ แต่เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นกับนายหวิน เพราะนายหวินไปยิงกวางของหลวงปู่ตาย
กิจวัตรของหลวงปู่สงฆ์ จันทสโร
เวลา ๐๔.๐๐ น.     ไหว้พระทำวัตรเช้า
เวลา ๐๖.๑๐ น.     ท่านออกจากห้องเตรียมที่จะออกบิณฑบาต ในระหว่างนั้น สามเณรอุปัฏฐากจะขึ้นปฏิบัติและญาติโยมมากราบขอพร
เวลา ๐๗.๐๐ น.     ออกบิณฑบาต เมื่อกลับมาแล้วท่านเข้าห้องไหว้พระอีก
เวลา ๐๙.๐๐ น.     ลงหอฉัน เพื่อฉันภัตตาหาร เมื่อฉันภัตตาหารและให้พรเรียบร้อย ท่านจะพูดคุยกับญาติโยมที่มาทำบุญ หลังจากนั้นท่านกลับขึ้นกุฏิและต้อนรับพุทธศาสนิกชนที่มาจากใกล้และไกลพอสมควร แล้วเข้าห้องพักผ่อน
เวลา ๑๒.๓๐ น.     ออกจากห้อง เพื่อต้อนรับศรัทธาญาติโยมที่มาขอพร
เวลา ๑๔.๐๐ น.     ท่านสรงน้ำแล้วเข้าห้องไหว้พระสวดมนต์
เวลา ๑๖.๐๐ น.     ออกจากห้องต้อนรับญาติโยมที่มาขอพร
เวลา ๑๘.๐๐ น.     เข้าห้องทำกิจภาวนา และให้ภิกษุสามเณรทั้งหมดต้องทำกิจภาวนาด้วย จนถึงเวลา ๒๐.๐๐ น.
เวลา ๒๐.๐๐ น.     เสร็จจากทำกิจภาวนาแล้ว ออกจากห้องให้ภิกษุสามเณรขึ้นปรนนิบัติ และเป็นโอกาสที่ท่านให้โอวาทแนะ นำ สั่งสอน
เวลา ๒๒.๐๐ น.     เข้าห้องพักผ่อน
เวลา ๒๔.๐๐ น.     ล่วงจากนี้ไปแล้วท่านจะทำกิจภาวนาไปจนถึงเวลา ๐๔.๐๐ น.
  อนึ่งถ้าเป็นวันพระกลางเดือนและ สิ้นเดือน เวลา ๑๓.๐๐ น.ท่านจะลงอุโบสถพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์เพื่อสวดและฟังพระปาฏิโมกข์โดยมิได้ขาด
หลวงปู่สงฆ์ จันทสโร

         ท่านได้เข้าพำนักอยู่ประจำที่วัดเจ้าฟ้าศาลาลอย นี้ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๖๒ จนถึง วันอังคาร ที่ ๒ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๒๖ ตรงกับแรม ๙ ค่ำเดือน ๘ ปีกุน ก่อนหน้านี้หนึ่งวันหลวงปู่ได้ให้คนไปตามหลวงพ่อคงจากวัดวิสัยซึ่งเป็นหลานชายของท่าน ให้มาพบ และกล่าวว่า เมื่อท่านสิ้น ขอมอบบาตร ไม้เท้า และ ย่ามให้แก่หลวงพ่อคงนำไปเก็บรักษาไว้ด้วย
         วันอังคารที่ ๒ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๒๖ ตอนเช้าหลวงปู่ท่านยังรู้สึกตัว มีสายน้ำเกลือติดอยู่ที่แขนท่าน นอนสงบอยู่บนเตียงที่กุฏิ เวลาประมาณ ๑๐.๐๐ น. เศษๆ ลูกศิษย์ผู้ใกล้ชิดที่มาปรนนิบัติหลวงปู่เห็นท่านนอนนิ่ง แต่ทว่าน้ำเกลือไหลเปรอะออกมาจึงได้ไปตามหมอมาดู ปรากฏว่าหลวงปู่ท่านได้จากไปอย่างสงบเสียแล้ว น้ำไม่ได้เข้าสู่ร่างกายเพราะลมหายของหลวงปู่หยุด น้ำเกลือจึงไหลล้นออกมาไม่อาจเข้าร่างกาย หลวงปู่จากไปอย่างสงบไม่ทราบเวลาที่แน่นอนเพราะท่านนอนนิ่งอยู่อย่างนั้นไม่กระวนกระวายจนผิดสังเกต
         บรรยากาศ ณ เวลานั้นช่างเงียบเชียบ แม้แต่สายลมยังหยุดนิ่ง ใบไม้ไม่ไหวติงไม่มีแม้แต่เสียงนก เสียงกา ร้องเหมือนปกติเช่นเคย แสงแดดส่องประกายเหลืองจ้าผิดปกติจากทุกๆ วัน ทุกสรรพเสียงเงียบเชียบ ไม่เพียงแต่เสียงฆ้องกลองดังระงมไปทั่วซึ่งเป็นการบอกเหตุให้ชาวบ้านได้รับรู้ บ้างต่างก็พากันงุนงงเต็มไปด้วยความสงสัยสับสน มีบ้างที่รู้ถึงข่าวการอาพาธของหลวงปู่ก็เกิดความวิตกกังวลเป็นอย่างมาก ถึงลางบอกเหตุของการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ ดังนั้นทุกคนในบริเวณที่รัศมีเสียงฆ้องกลอง สามารถดังถึง ก็รีบมาที่วัดเป็นการด่วน บางคนทิ้งจอบทิ้งเสียมไว้กลางทุ่งนาโดยมิได้นึกถึงสิ่งใด เพราะตอนนี้ทุกคนต่างต้องการมาให้ถึงวัดโดยเร็ว
         เมื่อมาถึงในบริเวณวัด พอทราบว่าหลวงปู่ท่านได้จากไปเสียแล้ว สร้างความเศร้าโศกเสียใจ บางคนถึงกับร้องไห้ฟูมฟายบางคนน้ำตาไหลโดยไม่รู้ตัว ด้วยคิดว่าตอนนี้ที่พึ่งทางใจได้จากไปเสียแล้ว ต่อไปนี้จะพึ่งใคร เพราะตอนสมัยหลวงปู่ท่านยังอยู่ ไม่ว่าจะเจ็บไข้ได้ป่วยหรือเดือดร้อนด้วยเรื่องอันใดก็จะได้หลวงปู่เป็นที่พึ่งปัดเป่าทุกข์ร้อนต่างๆ ให้สิ้นไป ต่อจากนี้ไปจะหันหาไปพึ่งใครได้อีกเล่า ยิ่งทำให้บรรยากาศในบริเวณวัดวังเวงยิ่งขึ้นไปอีก เมื่อบรรดาศิษย์ทั้งหลายที่อยู่ไกลออกไปทราบข่าวคราว ต่างก็พากันมาที่วัดเจ้าฟ้าศาลาลอย อย่างเนืองแน่นจากทุกสารทิศเพื่อกราบนมัสการสรีระและบำเพ็ญกุศล ถวายแด่ หลวงปู่สงฆ์ จันทสโร
         ตั้งแต่เช้าจรดค่ำคืน ที่วัดเจ้าฟ้าศาลาลอย จะเนืองแน่นไปด้วยผู้คน บ้างต้องจอดรถยนต์เดินกันเป็นระยะทาง ๒ - ๓กิโลเมตร ในระหว่างงานมีเหตุอัศจรรย์เกิดขึ้น คือ หาใช่เพียงแต่ผู้คนไม่ที่มานมัสการสรีระของหลวงปู่ แม้แต่เต่าที่ท่านได้เคยเลี้ยงและได้ปล่อยไปแล้ว ยังกลับมาที่วัด เสมือนว่ามันจะทราบว่าหลวงปู่ได้ละสังขารแล้ว ในวันที่เต่าปรากฏนั้นเกิดพายุหมุนเล่นเอาสังกะสีหลังคาโรงที่สร้างเอาไว้สำหรับรองรับคนที่มาฟังเทศน์ ฟังการสวดพระอภิธรรม กระจัดกระจาย สังกะสีปลิวว่อน แต่ไม่มีใครได้รับอันตรายแต่อย่างใด เต่าตัวนี้มีขนาดประมาณ ๑๕ - ๒๐ นิ้วเห็นจะได้ เมื่อมาถึงที่ศาลา มีคนอุ้มเอาขึ้นไปวางไว้ตรงหน้าหีบศพของหลวงปู่ เมื่อวางเสร็จเต่าตัวนี้ก็ทำหัวผงกๆ จากนั้นก็นั่ง มีคนเห็นเต่าน้ำตาไหล อาบแก้มทั้งสอง ข่าวนี้กระจายไปทั่วเมืองชุมพร คนก็เลยมาดูเต่ากันมากขึ้น
         สิ่งที่น่าประหลาด คือ เมื่อนำเต่าออกมาถ่ายรูป หรือจะนำออกมาวางในลักษณะใดก็ตาม พอวางเสร็จสักครู่ เต่าก็จะหันหัว กลับไปที่หีบศพทุกครั้ง แล้วกลับไปนอนนิ่งใต้หีบศพของหลวงปู่ ความแปลกยังมีอีก จนกระทั่งถึงวันที่ ๑๔ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๒๖ จากจำนวนเต่า ๑ ตัว แรก กลายเป็น ๙ ตัว เพราะมีเต่าเพิ่มมาอีก บางตัวมาปรากฏอยู่หน้าลานวัด บางตัวชาวบ้านจับเอา มาส่งที่วัด เพราะ เขาเล่าว่าตอนขณะที่พวกเขาจะเดินทางมานมัสการหลวงปู่ เต่าได้ออกมาขวางหน้ารถ คล้ายกับว่าจะให้พามันมานมัสการหลวงปู่ด้วยนั่นเอง ที่เป็นอย่างนี้เพราะเหตุว่า เมื่อตอนหลวงปู่ยังอยู่นั้น หากชาวบ้านพบเต่าคลานอยู่หรือว่าจับได้ ก็จะนำมาถวายหลวงปู่ที่วัด ท่านก็จะเอาสีเขียนทาลงไป เขียนชื่อท่านบ้าง เขียนชื่อวัดบ้าง บางตัวก็จะมีอักขระขอม เป็นที่รู้กันว่านี่คือเต่าของหลวงปู่ เป็นเต่าพันธุ์เต่าหก มีลักษณะ ๖ ขา เป็นเต่าพันธุ์เฉพาะถิ่นในแถบเมืองชุมพรนี้ บางตัวหากจะยกต้องให้ผู้ชายกำลังดีๆ ถึง ๔ คนจึงจะยกได้
         มีเรื่องแปลกอีกว่า หลวงปู่ไปเข้าฝันชายคนหนึ่งแถวบ้านสามแก้วว่าให้ไปช่วยลูกของท่านที่ตกบ่อด้วย ชายคนนั้นไปดูตามบ่อต่างๆ ก็พบเต่ากำลังตะเกียกตะกาย จะขึ้นจากบ่อมาให้ได้ เขาก็ช่วยมาจากบ่อ พอดูที่กระดองเต่าก็เห็นอักษรเขียนว่า ว.ศ.ล. คือ เป็นตัวย่อของวัดเจ้าฟ้าศาลาลอยนั่นเอง ก็เลยนำมาที่วัด มีชาวบ้านที่ได้มานมัสการหลวงปู่ เมื่อมาพบเห็นเต่าก็นำไปตีเป็นตัวเลข นำไปแทงหวย ในงวดวันที่ ๑๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๒๖ ถูกกันเกือบทั้งเมืองชุมพร ข่าวเรื่องเต่าของหลวงปู่เป็นที่เกรียวกราวมากในจังหวัดชุมพร
หลวงปู่สงฆ์ จันทสโร
         ท่านได้เข้าพำนักอยู่ประจำที่วัดเจ้าฟ้าศาลาลอย นี้ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๖๒ จนถึง วันอังคารที่ ๒ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๒๖ ตรงกับแรม ๙ ค่ำ เดือน ๘ ปีกุน เวลา ประมาณ ๑๐.๐๐ น. เศษๆ ท่านก็ได้มรณภาพ รวมสิริอายุได้ ๙๔ ปี ๓ เดือน ๒ วัน รวมท่านอยู่ที่วัดเจ้าฟ้าศาลาลอยเป็นเวลา ๖๔ ปี ทางศิษยานุศิษย์ ได้จัดพิธีบำเพ็ญกุศลศพของหลวงปู่ ตั้งแต่วัน ๒ - ๑๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๒๖ และได้ทำพิธีปิดศพในคืนวันที่ ๑๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๒๖ หลังจากนั้นทุกๆ คืนจะมีการสวดพระอภิธรรมโดยพระภิกษุภายในวัด และโดยเฉพาะในวันอังคาร ซึ่งกับวันคล้ายวันเกิด และวันมรณภาพ ของหลวงปู่ท่าน จะมีการสวดพิเศษคือ การสวดในบท อนัตตลักขณสูตร และอาทิตตปริยายสูตร สลับกันไปทุกๆ วันอังคาร ของแต่ละสัปดาห์ และจะมีการสวดครบรอบวันมรณภาพในแต่ละปี โดยตรงกับ วันที่ ๒ สิงหาคม ของทุกๆ ปี จะมีการนิมนต์พระเถระชั้นผู้ใหญ่ ในจังหวัดชุมพร มาสวดเป็นประจำทุกๆ ปี
ปัจจุบัน สรีระของหลวงปู่ได้ประดิษฐานอยู่ บนศาลาธรรมสังเวช เพี่อให้พุทธศาสนิกชนและศิษยานุศิษย์ได้กราบสักการบูชาตลอดไป
คำให้พรของหลวงปู่ที่ได้ยินบ่อยครั้ง จงบังเกิดมีแด่ญาติโยมทุกๆ ท่านเทอญ...

หลวงพ่อแก่ พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองสตูล





สถานที่ตั้ง
ตั้งที่วัดดุลยาราม ตำบลฉลุง อำเภอเมือง จังหวัดสตูล ติดกับถนนใหญ่ ถนนยนตระการกำธร สายสตูล - หาดใหญ่

ประวัติความเป็นมา
ตามหลักฐานไม่มีหลักฐานบอกอายุที่แท้จริงของพระพุทธรูปองค์นี้ ทราบว่า ลอยน้ำมามีผู้พบเห็นแล้วนำไปถวายวัด ปี พ.ศ.2456 - 2479 สมัยอธิการปลอด ชาวบ้านเล่าให้ฟังว่า มีผู้พบเห็นลอยน้ำคลองฉลุง ตอนเหนือของหมู่บ้าน

ความสำคัญต่อชุมชน
หลวงพ่อแก่ได้แสดงอภินิหารความศักดิ์สิทธิ์ให้ปรากฎเป็นที่ประจักษ์เรื่อยมา เป็นที่กล่าวเลื่องลือในจังหวัดภาคใต้ แม้กระทั่งชาวมาเลเซีย ที่มีรัฐติดต่อกับจังหวัดสตูล ทุกปีมีประชาชนจำนวนมากมาสักการะบูชา วันสงกรานต์ทุกปีทางวัดอัญเชิญ หลวงพ่อแก่ เปิดโอกาสให้ประชาชนได้สรงน้ำ
ลักษณะทางสถาปัตยกรรม ทำด้วยไม้แกะสลัก ขนาดความสูงประมาณ 70 - 80 เซนติเมตร เป็นพระปางห้ามญาติเค้าหน้าเป็นผู้หญิงแบบนางพญา หรือพระหน้านาง บางที่เรียก พระแก่นจันทร์ เป็นพระพุทธรูปทรงเครื่อง ฝีมือแกะสลักสันนิฐานว่า เป็นช่างภาคเหนือ หรือลานนา

เส้นทางสู่สถานที่ตั้ง
วัดตั้งอยู่ติดกับถนนยนตระการกำธร สายสตูล - หาดใหญ่ ห่างจากตัวเมืองสตูล ประมาณ 13 กิโลเมตร หากมาจากจังหวัดตรัง ผ่านอำเภอทุ่งหว้า อำเภอละงู อำเภอท่าแพ ประมาณ 137 กิโลเมตร ถึงสามแยกสถานีตำรวจภูธรตำบลฉลุง เลี้ยวซ้ายประมาณ 200 เมตร ก็ถึงวัดดุลยาราม ซึ่งอยู่ทางขวามือ


หลวงพ่อแก่ วัดดุลยาราม พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองสตูล
"หลวงพ่อแก่"เป็น พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองสตูล โดย พระอธิการเปลียว ปรกฺกโม หรือพ่อท่านเปลียว เจ้าอาวาสวัดดุลยาราม ได้อัญเชิญหลวงพ่อแก่ประดิษฐานไว้ที่วัด

ภายหลังพ่อท่านเปลียวได้ มรณภาพลง ต่อมา พระสิริขันตยาภรณ์ (มหารุ่ง) ได้เป็นเจ้าอาวาสสืบแทน ซึ่งท่านได้มีดำริร่วมกับคณะกรรมการวัด ว่า ควรจัดสร้างวัตถุมงคลหลวงพ่อแก่ เพื่อให้ชาวบ้านได้นำไปบูชา

เหรียญหลวงพ่อแก่ วัดดุลยาราม รุ่นแรก จ.สตูล ปี 2514ประกอบพิธีพุทธาภิเษก ณ วิหารวัดดุลยาราม ต.ฉลุง อ.เมือง จ.สตูล ตรงกับวันเสาร์ที่ 3 เมษายน 2514 โดยมีพระเกจิอาจารย์ชื่อดังเข้าร่วมพิธี อาทิ พระอาจารย์ศรีแก้ว ตุลกุโณ วัดไทรใหญ่, หลวงพ่อสงฆ์ วัดคงคาวดี, หลวงพ่อเพชร วัดดอนแย้, พระอาจารย์เล็ก วัดเจริญภูพา อ.รัตภูมิ จ.สงขลา เป็นต้น

เหรียญหลวงพ่อแก่ วัดดุลยาราม รุ่นแรก ปี 2514 เป็นเหรียญหลวงพ่อแก่เนื้อทองแดงและเนื้อเงิน ลักษณะเหรียญเป็นรูปไข่ ด้านหน้าเหรียญเป็นรูปพ่อท่านเปลียว เจ้าอาวาส

ด้านหลังเหรียญ เป็นองค์หลวงพ่อแก่ ครึ่งท่อน เหรียญหลวงพ่อแก่ รุ่นแรกสร้างประมาณเกือบ 5,000 เหรียญ เพื่อแจกให้กับประชาชนที่มาร่วมงานฌาปนกิจศพพ่อท่านเปลียว ในวันที่ 6 เมษายน 2514 ปรากฏว่ามีผู้ร่วมงานเป็นจำนวนมาก ทำให้เหรียญที่จัดสร้างนั้นแทบจะไม่เพียงพอ
ส่วนเหรียญหลวงพ่อแก่เนื้อเงิน เป็นเหรียญสมนาคุณ แจกให้กับผู้ที่บริจาคปัจจัยช่วยงาน ปัจจุบัน เหรียญพ่อท่านเปลียวหรือเหรียญหลวงพ่อแก่ กลายเป็นเหรียญหายาก เพราะสร้างน้อยและมีคนต้องการมาก

ต่อมาท่านเจ้าคุณพระสิริขันตยาภรณ์ เจ้าคณะจังหวัดสตูลและเจ้าอาวาสวัดดุลยาราม ได้จัดสร้างเหรียญพ่อท่านเปลียวหรือเหรียญหลวงพ่อแก่ อีก 2 รุ่นด้วยกัน แต่ลักษณะเหรียญจะเล็กกว่ารุ่นแรก ราคาเช่าบูชาประมาณเหรียญละ 500 บาท เป็นเหรียญหายากเช่นกัน

และท่านเจ้าคุณ ยังสร้างพระปิดตาและพระสมเด็จปรกโพธิ์ ก่อนมรณภาพ เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2534

หลังจากนั้น เหรียญหลวงพ่อแก่ วัดดุลยาราม ได้ถูกจัดสร้างขึ้นในรุ่นที่ 3 ปี 2534 โดยมหาเศรษฐีชาวสิงคโปร์ รูปแบบของเหรียญใช้แม่พิมพ์เก่ามาสร้างใหม่ ซึ่งเป็นเหรียญหลวงพ่อแก่แท้ ที่ท่านเจ้าคุณไม่ได้เป็นผู้จัดสร้าง เพื่อแจกในงานพระราชทานเพลิงศพท่านเจ้าคุณพระสิริขันตยาภรณ์

เหรียญหลวงพ่อแก่ วัดดุลยาราม หรือเหรียญพ่อท่านเปลียว จัดเป็นเหรียญยอดนิยมในสตูลและภาคใต้ ไปจนถึงประเทศมาเลเซีย รัฐปีนัง สิงคโปร์ เหรียญหลวงพ่อแก่เป็นเหรียญที่ใครบูชาแล้ว จะได้สมตามความปรารถนา

เป็นที่เลื่องลือกันว่า หลวงพ่อแก่ สามารถดลบันดาลให้ฝนหยุดตกได้ ของหายหรือคนหายก็จะได้กลับคืน ขอให้สอบได้ก็ได้ดั่งใจ และยังมีพุทธคุณโดดเด่นด้านการคลาดแคล้วจากภยันตราย เหรียญหลวงพ่อแก่ วัดดุลยารามจึงเป็นอีกหนึ่งเหรียญวัตถุมงคลที่หายากและควรมีเก็บไว้บูชา

หลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืด


ประวัติ    

                                                                                                                                                                              

ประวัติ หลวงปู่ทวด เหยียบน้ำทะเลจืด วัดช้างให้

สมเด็จเจ้าพะโคะหรือหลวงพ่อทวด เป็นที่รู้จักของชาวไทยทุกภูมิภาคในฐานะพระศักดิ์สิทธิ์ที่มีอิทธิปาฏิหาริย์และอภิญญาแก่กล้าจนได้สมญาว่า “หลวงปู่ทวดเหยียบน้ำทะเลจืด” ประวัติอันพิสดารของท่านมีเล่าสืบกันมาไม่รู้จบสิ้น ยิ่งนานวันยิ่งซับซ้อนและขยายวงกว้างออกไปกลายเป็นความเชื่อความศรัทธาอย่างฝังใจ
หลวงพ่อทวดเป็นบุคคลที่มีตัวตนจริงๆ เรื่องราวต่อไปนี้ผู้เขียนได้รวบรวมจากหนังสืออ้างอิงหลายเล่มทั้งที่เป็นตำนานหลักฐานทางประวัติศาสตร์ หนังสือและเอกสารต่างๆ พอจะให้ท่านผู้อ่านได้ทราบว่า หลวงพ่อทวดคือใคร เกิดในสมัยใดและได้สร้างคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติและพระศาสนาไว้อย่างไรบ้าง เพื่อเป็นคติเตือนใจแก่อนุชนรุ่นหลังสืบไป



  ทารกอัศจรรย์
         เมื่อประมาณสี่ร้อยปีที่ผ่านมาในตอนปลายรัชสมัยของพระมหาธรรมราชา แห่งกรุงศรีอยุธยา ณ หมู่บ้านสวนจันทร์ ตำบลชุมพล เมืองจะทิ้งพระตรงกับวันศุกร์ เดือนสี่ ปีมะโรง พุทธศักราช 2125 ได้มีทารกเพศชายผู้หนึ่งถือกำเนิดจากครอบครัวเล็กๆ ฐานะยากจนแร้นแค้น แต่มีจิตอันเป็นกุศล ชอบทำบุญสุนทานยึดมั่นในศีลธรรมอันดี ปราศจากการเบียดเบียนมนุษย์และสัตว์ทั้งหลาย ทารกน้อยผู้
 นี้มีนายว่า “ปู” เป็นบุตรของนายหู นางจันทร์ ในขณะเยาว์วัย ทารกผู้นั้นยังความอัศจรรย์ให้แก่บิดามารดาตลอดจนญาติพี่น้องทั้งหลาย ด้วยอยู่มาวันหนึ่งมีงูตระบองสลาตัวใหญ่มาขดพันอยู่รอบเปลที่ทารกน้อยนอนหลับอยู่ และงูใหญ่ตัวนั้นไม่ยอมให้ใครเข้ามาใกล้เปลที่ทารกน้อยนอนอยู่เลย จนกระทั่งบิดามารดาของเด็กเกิดความสงสัยว่า พญางูตัวนั้นน่าจะเป็นเทพยดาแปลงมาเพื่อให้เห็นเป็นอัศจรรย์ในบารมีของลูกเราเป็นแน่แท้ จึงรีบหาข้าวตอกดอกไม้และธูปเทียนมาบูชาสักการะ งูใหญ่จึงคลายลำตัวออกจากเปลน้อย เลื้อยหายไป ต่อมาเมื่อพญางูจากไปแล้ว บิดามารดาทั้งญาติต่างพากันมาที่เปลด้วยความห่วงใยทารก ก็ปรากฏว่าเด็กชายปูยังคงนอนหลับอยู่เป็นปกติ แต่เหนือทรวงอกของทารกกลับมีดวงแก้วดวงหนึ่งมีแสงรุ่งเรืองเป็นรัศมีหลากสี ตาหู นางจันทร์จึงเก็บรักษาไว้ นับแต่บัดนั้นฐานะความเป็นอยู่การทำมาหากินก็จำเริญรุ่งเรืองขึ้นเป็นลำดับอยู่สุขสบายตลอดมา
สามีราโม
         เมื่อกาลล่วงมานานจนเด็กชายปูอายุได้เจ็ดขวบ บิดาได้นำไปฝากสมภารจวง วัดกุฏิหลวง (วัดดีหลวง) เพื่อให้เล่าเรียนหนังสือเด็กชายปูมีความเฉลียวฉลาดมาก สามารถเรียนหนังสือขอมและไทยได้อย่างรวดเร็ว ครั้นอายุได้ 15 ปี ก็บรรพชาเป็นสามเณรและบิดาได้มอบแก้ววิเศษไว้เป็นของประจำตัว ต่อมาสามเณรปูได้ไปศึกษาต่อกับสมเด็จพระชินเสน ที่วัดสีหยัง (สีคูยัง) ครั้นอายุครบอุปสมบทจึงได้เดินทางไปศึกษาต่อที่นครศรีธรรมราช ณ สำนักพระมหาเถระปิยทัสสี ได้ทำการอุปสมบทมีฉายาว่า “ราโม ธมฺมิโก” แต่คนทั่วไปเรียกท่านว่า “เจ้าสามีราม” หรือ “เจ้าสามีราโม” เจ้าสามีรามได้ศึกษาอยู่ที่วัดท่าแพ วัดสีมาเมือง และวัดอื่นๆ อีกหลายวัด เมื่อเห็นว่าการศึกษาที่นครศรีธรรมราชเพียงพอแล้วจึงขอโดยสารเรือสำเภาเดินทางไปกรุงศรีอยุธยา ขณะเดินทางถึงเมืองชุมพร เกิดคลื่นทะเลปั่นป่วน เรือไม่สามารถแล่นฝ่าคลื่นลมไปได้ต้องทอดสมออยู่ถึงเจ็ดวัน ทำให้เสบียงอาหารและน้ำหมดบรรดาลูกเรือตั้งข้อสงสัยว่าการที่เกิดเหตุอาเพศในครั้งนี้เพราะเจ้าสามีราม จึงตกลงใจให้ส่งเจ้าสามีรามขึ้นเกาะและได้นิมนต์ให้เจ้าสามีรามลงเรือมาด ขณะที่นั่งอยู่ในเรือมาดนั้น ท่านได้ห้อยเท้าแช่ลงไปในทะเลก็บังเกิดอัศจรรย์น้ำทะเลบริเวณนั้นเป็นประกายแวววาวโชติช่วง
         เจ้าสามีรามจึงบอกให้ลูกเรือตักน้ำขึ้นมาดื่มก็รู้สึกว่าเป็นน้ำจืด จึงช่วยกันตักไว้จนเพียงพอ นายสำเภาจึงนิมนต์ให้ท่านขึ้นสำเภาอีก และตั้งแต่นั้นมาเจ้าสามีรามก็เป็นชีต้นหรืออาจารย์สืบมา
         เมื่อถึงกรุงศรีอยุธยา ก็ได้ไปพำนักอยู่ที่วัดแค ศึกษาธรรมะที่ วัดลุมพลีนาวาส ต่อมาได้ไปพำนักอยู่ที่วัดของสมเด็จพระสังฆราช ได้ศึกษาธรรมและภาษาบาลี ณ ที่นั้นจนเชี่ยวชาญจึงทูลลาสมเด็จพระสังฆราชไปจำพรรษาที่วัดราชนุวาส เมื่อประมาณ พ.ศ. 2149 ตรงกับรัชสมัยของสมเด็จพระเอกาทศรถ


รบด้วยปัญญา
         กระทั่งวันหนึ่งถึงกาลเวลาที่ชื่อเสียงของหลวงปู่ทวดหรือเจ้าสามีรามจะระบือลือลั่นไปทั่วกรุงสยาม จึงได้มีเหตุพิสดารอุบัติขึ้นในรัชสมัยของพระเอกาทศรถ กล่าวคือ สมัยนั้นพระเจ้าวัฏฏะคามินี แห่งประเทศลังกา ซึ่งเคยเป็นเมืองขึ้นของอาณาจักรแหลมทองทางภาคใต้ คิดแก้มือด้วยการท้าพนันแปลธรรมะ และต้องการจะแผ่พระบรมเดชานุภาพมาทางแหลมทอง ใคร่จะได้กรุงศรีอยุธยามาเป็นประเทศราช แต่พระองค์ไม่ปรารถนาให้เกิดศึกสงครามเสียชีวิตแก่ประชาชนทั้งสองฝ่าย จึงทรงวางแผนการเมืองด้วยสันติวิธี คิดหาทางรวบรัดเอากรุงศรีอยุธยาเป็นเมืองขึ้นด้วยสติปัญญาเป็นสำคัญ เมื่อคิดได้ดังนั้น พระเจ้ากรุงลังกาจึงมีพระบรมราชโองการสั่งให้พนักงาน ท้องพระคลังเบิกจ่ายทองคำบริสุทธิ์แล้วให้ช่างทองประจำราชสำนักไปหล่อ ทองคำเหล่านั้นให้เป็นตัวอักษรบาลีเล็กเท่าใบมะขาม ตามพระอภิธรรมทั้งเจ็ดคัมภีร์ จำนวน 84,000 ตัว จากนั้นก็ทรงรับสั่งให้พราหมณ์ผู้เฒ่าอันมีฐานะเทียบเท่าปุโรหิตจำนวนเจ็ดท่านคุมเรืองสำเภาเจ็ดลำบรรทุกเสื้อผ้าแพรพรรณ และของมีค่าออกเดินทางมายังกรุงศรีอยุธยาพร้อมกับปริศนาธรรมของพระองค์
         เมื่อพราหมณ์ทั้งเจ็ดเดินทางลุล่วงมาถึงกรุงสยามแล้วก็เข้าเฝ้าถวายพระราชสาส์นของกษัตริย์ตนแก่พระเจ้าเอกาทศรถ มีใจความในพระราชสาส์นว่าพระเจ้ากรุงลังกาขอท้าให้พระเจ้ากรุงสยามทรงแปลและเรียบเรียงเมล็ดทองคำตามลำดับให้เสร็จภายในกำหนดเจ็ดวันนับแต่วันที่ได้รับพระราชสาส์นนี้เป็นต้นไป ถ้าทรงกระทำไม่สำเร็จตามสัญญาก็จะยึดกรุงศรีอยุธยาให้อยู่ใต้พระบรมเดชานุภาพของพระองค์ และทางกรุงสยามจะต้องส่งดอกไม้เงินดอกไม้ทองอีกทั้งเครื่องราชบรรณาการแก่กรุงลังกาตลอดไปทุกๆ ปีเยี่ยงประเทศราชทั้งหลาย
พระสุบินนิมิต

เมื่อพระเอกาทศรถทรงทราบความ ดังนั้น จึงมีพระบรมราชโองการให้สังฆการีเขียนประกาศนิมนต์พระราชาคณะและพระเถระทั่วพระมหานคร ให้กระทำหน้าที่เรียบเรียงและแปลตัวอักษรทองคำในครั้งนี้ แต่ก็ไม่มีท่านผู้ใดสามารถเรียบเรียงและแปลอักษรทองคำในครั้งนี้ได้จนกาลเวลาลุล่วงผ่านไปได้หกวัน ยังความปริวิตกแก่พระองค์และไพร่ฟ้าประชาชนต่างพากันโจษขานถึงเรื่องนี้ให้อื้ออึงไปหมด
ครั้นราตรีกาลยามหนึ่งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเข้าพระบรรทมทรงสุบินว่า ได้มีพระยาช้างเผือกลักษณะบริบูรณ์เฉกเช่นพระยาคชสารเชือกหนึ่ง ผายผันมาจากทางทิศตะวันตก เยื้องย่างเข้ามาในพระราชนิเวศน์แล้วก้าวเข้าไปยืนผงาดตระหง่านบนพระแท่นพลางเปล่งเสียงโกญจนาทกึกก้องไปทั่วทั้งสี่ทิศ เสียงที่โกญจนาทด้วยอำนาจของพระยาคชสารเชือกนั้นยังให้พระองค์ทรงสะดุ้งตื่นจากพระบรรทม
รุ่งเช้าเมื่อพระองค์เสด็จออกว่าราชการ ได้ทรงรับสั่งถึงพระสุบินนิมิตประหลาดให้โหรหลวงฟังและได้รับการกราบถวายบังคมทูลว่า เรื่องนี้หมายถึงชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ของพระองค์และพระบรมเดชานุภาพจะแผ่ไพศาลไปทั่วสารทิศเป็นที่เกรงขามแก่อริราชทั้งปวง ทั้งจะมีพระภิกษุหนุ่มรูปหนึ่งจากทางทิศตะวันตก มาช่วยขันอาสาแปลและเรียบเรียงตัวอักษรทองคำปริศนาได้สำเร็จ พระเจ้าอยู่หัวได้ฟังดังนั้นจึงค่อยเบาพระทัย และรับสั่งให้ข้าราชบริพารทั้งมวลออกตามหาพระภิกษุรูปนั้นทันที
อักษรเจ็ดตัว
         ต่อมาสังฆการีได้พยายามเสาะแสวงหาจนไปพบ “เจ้าสามีราม” ที่วัดราชานุวาส และเมื่อได้ไต่ถามได้ความว่าท่านมาจากเมืองตะลุง (พัทลุงในปัจจุบัน) เพื่อศึกษาพระธรรมวินัย สังฆการี จึงเล่าความตามเป็นจริงให้เจ้าสามีรามฟังทั้งได้อ้างตอนท้ายว่า “เห็นจะมีท่านองค์เดียวที่ตรงกับพระสุบินของพระเจ้าอยู่หัว จึงใคร่ขอนิมนต์ให้ไปช่วยแก้ไขในเรื่องร้ายดังกล่าวให้กลายเป็นดี ณ โอกาสนี้” ครั้นแล้วเจ้าสามีรามก็ตามสังฆการีไปยังที่ประชุมสงฆ์ ณ ท้องพระโรง พระเจ้าอยู่หัวทรงมีรับสั่งให้พนักงานปูพรมให้ท่านนั่งในที่อันควร พราหมณ์ทั้งเจ็ดคนได้ประมาทเจ้าสามีรามโดยว่า เอาเด็กสอนคลานมาให้แก้ปริศนา เจ้าสามีรามก็แก้คำพราหมณ์ว่า กุมารเมื่ออกมาแต่ครรภ์พระมารดา กี่เดือนกี่วันจึงรู้คว่ำ กี่เดือนกี่วันจึงรู้นั่ง กี่เดือนกี่วันจึงรู้คลาน จะว่ารู้คว่ำแก่ หรือจะว่ารู้นั่งแก่ หรือจะว่ารู้คลานแก่ ทำไมจึงว่าเราจะแก้ปริศนาธรรมมิได้ พราหมณ์ก็นิ่งไปไม่สามารถตอบคำถามท่านได้ จากนั้นจึงรีบนำบาตรใส่อักษรทองคำเข้าไปประเคนแก่เจ้าสามีราม
    ท่านรับประเคนมาจากมือพราหมณ์แล้วนั่งสงบจิตอธิษฐานว่า “ขออำนาจคุณบิดามารดาครูบาอาจารย์และอำนาจผลบุญกุศลที่ได้สร้างมาแต่ปางก่อนและอำนาจเทพยดาที่รักษาพระนครตลอดถึงเทวดาอารักษ์ศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย ครั้งนี้อาตมาจะแปลพระธรรมช่วยกู้บ้านกู้เมือง ขอให้ช่วยดลบันดาลจิตใจให้สว่างแจ้งขจัดอุปสรรคที่จะมาขัดขวาง ขอให้แปลพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าสำเร็จสมปรารถนาเถิด” ท่านรับประเคนมาจากมือพราหมณ์แล้วนั่งสงบจิตอธิษฐานว่า “ขออำนาจคุณบิดามารดาครูบาอาจารย์และอำนาจผลบุญกุศลที่ได้สร้างมาแต่ปางก่อนและอำนาจเทพยดาที่รักษาพระนครตลอดถึงเทวดาอารักษ์ศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย ครั้งนี้อาตมาจะแปลพระธรรมช่วยกู้บ้านกู้เมือง ขอให้ช่วยดลบันดาลจิตใจให้สว่างแจ้งขจัดอุปสรรคที่จะมาขัดขวาง ขอให้แปลพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าสำเร็จสมปรารถนาเถิด”
         ครั้นแล้วท่านก็คว่ำบาตรเทอักษรทองคำเริ่มแปลปริศนาธรรมทันที ด้วยอำนาจบุญญาบารมี กฤษดาภินิหารของท่านที่ได้จุติลงมาเป็นพระโพธิสัตว์โปรดสัตว์ในพระพุทธศาสนา กอปรกับโชคชะตาของประเทศชาติที่จะไม่เสื่อมเสียอธิปไตย เดชะบุญญาบารมีในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เทพยาดาทั้งหลายจึงดลบันดาลให้ท่านเรียบเรียงและแปลอักษรจากเมล็ดทองคำ 84,000 ตัว เป็นลำดับโดยสะดวกไม่ติดขัดประการใดเลย
         ขณะที่ท่านเรียบเรียงและแปลอักษรไปได้มากแล้ว ปรากฏว่าเมล็ดทองคำตัวอักษรขาดหายไปเจ็ดตัวคือ ตัว สัง วิ ธา ปุ กะ ยะ ปะ ท่านจึงทวงถามเอาที่พราหมณ์ทั้งเจ็ด พราหมณ์ทั้งเจ็ดก็ยอมจำนวน จึงประเคนเมล็ดทองคำที่ตนซ่อนไว้นั้นให้ท่านแต่โดยดี ปรากฏว่าท่านแปลพระไตรปิฎกจากเมล็ดทองคำสำเร็จบริบูรณ์เป็นการชนะพราหมณ์ในเวลาเย็นของวันนั้น

พระราชมุนี
         สมเด็จพระเอกาทศรถทรงพระโสมนัสยินดีเป็นที่ยิ่ง ทรงมีรับสั่งถวายราชสมบัติให้แก่เจ้าสามีรามให้ครอง 7 วัน แต่ท่านก็มิได้รับโดยให้เหตุผลว่าท่านเป็นสมณะ พระองค์ก็จนพระทัยแต่พระประสงค์อันแรงกล้าที่จะสนองคุณความดีความชอบอันใหญ่ยิ่งให้แก่ท่านในครั้งนี้ จึงพระราชทานสมณศักดิ์ให้เจ้าสามีรามเป็น “พระราชมุนีสามีรามคุณูปมาจารย์” ในเวลานั้น พระราชมุนีสามีรามคุณูปมาจารย์หรือหลวงพ่อทวดได้ไปจำพรรษาอยู่ ณ วัดราชานุวาส ศึกษาและปฏิบัติธรรมอยู่เป็นเวลาหลายปี ด้วยความสงบร่มเย็นเป็นสุขตลอดมา
โรคห่าเหือดหาย
         ต่อจากนั้น กรุงศรีอยุธยาเกิดโรคห่าระบาดไปทั่วเมือง ประชาราษฎรล้มป่วยเจ็บตายลงเป็นอันมาก ประชาชนพลเมืองเดือดร้อนเป็นยิ่งนัก สมัยนั้นหยูกยาก็ไม่มี นิยมใช้รักษาป้องกันด้วยอำนาจคุณพระศรีรัตนตรัยพระเจ้าอยู่หัวทรงพระวิตกกังวลมากเพราะไม่มีวิธีใดจะช่วยรักษาและป้องกันโรคนี้ได้ ทรงระลึกถึงพระราชมุนีฯ มีรับสั่งให้อำมาตย์ไปนิมนต์ท่านเจ้าเฝ้า ท่านได้ช่วยไว้อีกครั้งโดยรำลึกถึงคุณพระศรีรัตนตรัยและดวงแก้ววิเศษ แล้วทำน้ำพระพุทธมนต์ประพรมแก่ประชาชนทั่วทั้งพระนคร โรคห่าก็หายขาดด้วยอำนาจ คุณความดีและคุณธรรมอันสูงส่ง ทำให้พระเจ้าอยู่หัวทรงเลื่อนสมณศักดิ์ท่านขึ้นเป็นพระสังฆราชมีนามว่า “พระสังฆราชคูรูปาจารย์” และทรงพอพระราชหฤทัยในองค์ท่านเป็นอย่างยิ่ง ถึงกับทรงมีรับสั่งว่า “หากสมเด็จเจ้าฯ ประสงค์สิ่งใด หรือจะบูรณะวัดวาอารามใดๆ ข้าพเจ้าจะอุปถัมภ์ทุกประการ”
กลับสู่ถิ่นฐาน
         ครั้นกาลเวลาล่วงไปหลายปี สมเด็จเจ้าฯได้เข้าเฝ้า ถวายพระพรทูลลาจะกลับภูมิลำเนาเดิม พระองค์ทรงอาลัยมาก ไม่กล้าทัดทานเพียงแต่ตรัสว่า “สมเด็จอย่าละทิ้งโยม” แล้วเสด็จมาส่งสมเด็จเจ้าฯ จนสิ้นเขตพระนครศรีอยุธยา
         ขณะที่ท่านรุกขมูลธุดงค์ สมเด็จเจ้าฯ ได้เผยแผ่ธรรมะไปด้วยตามเส้นทาง ผ่านที่ไหนมีผู้เจ็บป่วยก็ทำการรักษาให้ ตามแนวทางที่ท่านเดินพักแรมที่ใดนั้น ที่นั่นก็เกิดเป็นสถานศักดิ์สิทธิ์ ประชาชนในถิ่นนั้นได้ทำการเคารพสักการะบูชามาถึงบัดนี้ ได้แก่ที่บ้านโกฏิ อำเภอปากพนัง ที่หัวลำภูใหญ่ อำเภอหัวไทร และอีกหลายแห่ง
สมเด็จเจ้าพะโคะ

ต่อจากนั้น ท่านก็ได้ธุดงค์ไปจนถึงวัดพัทธสิงห์บรรพตพะโคะ อันเป็นจุดหมายปลายทาง ประชาชนต่างซึ่งชื่นชมยินดีแซ่ซ้องสาธุการต้อนรับท่านเป็นการใหญ่ และได้พร้อมกันถวายนามท่านว่า “สมเด็จเจ้าพะโคะ”และเรียกชื่อวัดพัทธสิงห์บรรพตพะโคะว่า “วัดพะโคะ” มาจนบัดนี้ สมเด็จเจ้าฯ เห็นวัดพระโคะเสื่อมโทรมมาก เนื่องจากถูกข้าศึกทำลายโจรกรรม มีสภาพเหมือนวัดร้างสมเด็จเจ้าฯ กับท่านอาจารย์จวง คิดจะบูรณะปฏิสังขรณ์วัดพะโคะ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทราบ ยินดีและอนุโมทนาเป็นอย่างยิ่ง โปรดให้นายช่างผู้ชำนาญ 500 คน และทรงพระราชทานสิ่งของต่างๆ และเงินตราเพื่อการนี้เป็นจำนวนมาก ใช้เวลาประมาณ 3 ปี จึงแล้วเสร็จ สิ่งสำคัญในวัดพะโคะหรือ พระสุวรรณมาลิกเจดีย์ศรีรัตนมหาธาตุ ภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุซึ่งพระอรหันต์นามว่าพระมหาอโนมทัสสีได้เป็นผู้เดินทางไปอัญเชิญมาจากประเทศอินเดียสมเด็จเจ้าฯ ได้จำพรรษาเผยแผ่ธรรมที่วัดพะโคะอยู่หลายพรรษา
เหยียบน้ำทะเลจืด
         ขณะที่สมเด็จเจ้าฯ จำพรรษาอยู่ ณ วัดพะโคะ ครั้งนี้คาดคะเนว่า ท่านมีอายุกาลถึง 80 ปีเศษ อยู่มาวันหนึ่งท่านถือไม้เท้าศักดิ์สิทธิ์ประจำตัวไม้เท้านี้มีลักษณะคดไปมาเป็น 3 คด ชาวบ้านเรียกว่า “ไม้เท้า 3 คด” ท่านออกจากวัดมุ่งหน้าเดินไปยังชายฝั่งทะเลจีน ขณะที่ท่านเดินพักผ่อนรับอากาศทะเลอยู่นั้น ได้มีเรือโจรสลัดจีนแล่นเลียบชายฝั่งมา พวกโจรจีนเห็นท่านเดินอยู่คิดเห็นว่าท่านเป็นคนประหลาดเพราะท่านครองสมณเพศ พวกโจรจึงแวะเรือเทียบฝั่งจับท่านลงเรือไป เมื่อเรือโจรจีนออกจากฝั่งไม่นาน เหตุมหัศจรรย์ก็ปรากฏขึ้น คือ เรือลำนั้นแล่นต่อไปไม่ได้ต้องหยุดนิ่งอยู่กับที่ พวกโจรจีนพยายามแก้ไขจนหมดความสามารถเรือก็ยังไม่เคลื่อน จึงได้จอดเรือนิ่งอยู่ ณ ที่นั้นเป็นเวลาหลายวันหลายคืน ในที่สุดน้ำจืดที่นำมาบริโภคในเรือก็หมดสิ้น จึงขาดน้ำจืดดื่มและหุงต้มอาหารพากันเดือดร้อนกระวนกระวายด้วยกระหายน้ำเป็นอย่างมาก สมเด็จเจ้าฯ ท่านเห็นเหตุการณ์ความเดือดร้อนของพวกโจรถึงขั้นที่สุดแล้ว ท่านจึงเหยียบกราบเรือให้ตะแคงต่ำลงแล้วยื่นเท้าเหยียบลงบนผิวน้ำทะเลทั้งนี้ย่อมไม่พ้นความสังเกตของพวกโจรจีนไปได้
         เมื่อท่านยกเท้าขึ้นจากพื้นน้ำทะเลแล้วก็สั่งให้พวกโจรตักน้ำตรงนั้นมาดื่มชิมดู พวกโจรจีนแม้จะไม่เชื่อก็จำเป็นต้องลองเพราะไม่มีทางใดจะช่วยตัวเองได้แล้ว แต่ได้ปรากฏว่าน้ำทะเลเค็มจัดที่ตรงนั้นแปรสภาพเป็นน้ำจืดเป็นที่อัศจรรย์ยิ่งนัก พวกโจรจีนได้เห็นประจักษ์ในคุณอภินิหารของท่านเช่นนั้น ก็พากันหวาดเกรงภัยที่จะเกิดแก่พวกเขาต่อไป จึงได้พากันกราบไหว้ขอขมาโทษแล้วนำท่านล่องเรือส่งกลับขึ้นฝั่งต่อไป
         เมื่อสมเด็จเจ้าฯ ขึ้นจากเรือเดินกลับวัด ถึงที่แห่งหนึ่งท่านหยุดพักเหนื่อย ได้เอา “ไม้เท้า 3 คด” พิงไว้กับต้นยางสองต้นอันยืนต้นคู่เคียงกัน ต่อมาต้นยางสองต้นนั้นสูงใหญ่ขึ้น ลำต้นและกิ่งก้านสาขาเปลี่ยนไปจากสภาพเดิมกลับคดๆ งอๆ แบบเดียวกับรูปไม้เท้าทั้งสองต้น ประชาชนในถิ่นนั้นเรียกว่าต้นยางไม้เท้า ซึ่งเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์แห่งหนึ่งปรากฏอยู่ถึงทุกวันนี้
         สมเด็จเจ้าพะโคะหรือหลวงปู่ทวดครองสมณเพศและจำพรรษาอยู่ที่วัดพะโคะ เป็นที่พึ่งของประชาราษฎร์มีความร่มเย็นเป็นสุข ได้ช่วยการเจ็บไข้ได้ทุกข์ บำรุงสุข เทศนาสั่งสอนธรรมของพระพุทธองค์ ประดุจร่มโพธิ์ร่มไทรของปวงพุทธศาสนิกชนตลอดมา
 สังขารธรรม
         หลังจากนั้นหลายพรรษา สมเด็จเจ้าฯ หายไปจากวัดพะโคะเที่ยวจาริกเผยแผ่ธรรมะไปหลายแห่ง จากหลักฐานทราบว่าท่านได้ไปพำนักที่เมืองไทรบุรี ชาวบ้านเรียกท่านว่า “ท่านลังกา” และได้ไปพำนักที่วัดช้างไห้ ชาวบ้านเรียกท่านว่า “ท่านช้างให้” ดังนี้ ท่านได้สั่งแก่ศิษย์ว่าหากท่านมรณภาพเมื่อใด ขอให้ช่วยกันจัดการหามศพไปทำการฌาปนกิจ ณ วัดช้างให้ด้วย ขณะหามศพพักแรมนั้น ณ ที่ใดน้ำเหลืองไหลลงสู่พื้นดิน ที่ตรงนั้นให้เอาเสาไม้แก่นปักหมายไว้ต่อไปข้างหน้าจะเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์อยู่มาไม่นานเท่าไร ท่านก็ได้มรณภาพลงด้วยโรคชรา ปวงศาสนิกก็นำพระศพมาไว้ที่วัดช้างให้ อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี สถานที่ที่สมเด็จเจ้าฯ เคยพำนักอยู่ หรือไปมา นับได้ดังนี้ วัดกุฎิหลวง วัดสีหยัง วัดเสมาเมือง นครศรีธรรมราช กรุงศรีอยุธยา วัดพะโคะ วัดเกาะใหญ่ วัดในไทรบุรี และวัดช้างให้
ปัจฉิมภาค
         สมเด็จเจ้าฯ ในฐานะพระโพธิสัตว์หน่อพระพุทธภูมิ ผู้ทรงศีลวิสุทธิทรงธรรมและปัญญาญาณอันล้ำเลิศ กอปรด้วยกฤษดาภินิหารและปาฏิหาริย์ไม่ว่าท่านจะพำนักอยู่สถานที่ใด ที่นั่นจะเป็นศูนย์กลางในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา ไม่ว่าท่านจะจาริกไป ณ ที่ใด ก็จะมีคนกราบไหว้ฟังธรรม หลักการปฏิบัติของท่านเป็นหลักสำคัญของพระโพธิสัตว์คือช่วยเหลือประชาชนและเผยแพร่ธรรมะให้ชาวโลกอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข มีความเคารพเลื่อมใสในพระพุทธเจ้า พระธรรมและพระสงฆ์ สมดังคำว่า “พุทธัง ธัมมัง สังฆัง สรณัง คัจฉามิ” ตลอดไป

วันจันทร์ที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2554

พ่อท่านคล้าย วาจาสิทธิ์

พ่อท่านคล้าย วาจาสิทธิ์

ประวัติพ่อท่านคล้าย วัดสวนขัน , ประวัติพ่อท่านคล้าย วัดพระธาตุน้อย
พ่อท่านคล้าย วาจาสิทธิ์ วัดสวนขัน วัดพระธาตุน้อย พระครูพิศิษฐ์อรรถการ หรือ ที่รู้จักกันทั่วไปว่า "พ่อท่านคล้าย" ประวัติพ่อท่านคล้าย วาจาสิทธิ์ เทวดาเมืองคอน วัตถุมงคลพ่อท่านคล้าย
     พระครูพิศิษฐ์อรรถการ หรือที่รู้จักกันทั่วไปว่า "พ่อท่านคล้าย วาจาสิทธิ์" นามตามสมณศักดิ์ท่านคือ พระครูพิศิษฐ์อรรถการ เป็นอดีตเจ้าอาวาสวัดสวนขัน จังหวัดนครศรีธรรมราช
     พ่อท่านคล้าย นามเดิมว่า "คล้าย สีนิล" เกิดตรงกับ วันที่27ตรงกับวันอังคาร ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 4 ปีชวด จ.ศ.1238 ร.ศ.95 ที่บ้านโคกทือ ตำบลช้างกลาง กิ่งอำเภอช้างกลาง จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นบุตรของนายอินทร์ นางเหนี่ยว สีนิล มีพี่สาว 1 คน ชื่อนางเพ็งเป็นภรรยานายซ้าย เพ็ชรฤทธิ์ ไม่มีบุตรสืบสกุลแต่มีบุตรบุญธรรมหนึ่งคน ชื่อนายครื้น เพ็ชรฤทธิ์




     พ่อท่านคล้าย มีลักษณะนิสัย เป็นคนมีมานะอดทน ขยันหมั่นเพียร อยู่ในโอวาทคำสั่งสอนของบิดามารดาและครูอาจารย์อย่างเคร่งครัด สุภาพ เรียบร้อย ว่านอนสอนง่าย นิสัยอ่อนโยนละมุนละไม จึงเป็นที่รักของบิดามารดา ครูอาจารย์และญาติมิตรเป็นอันมาก
เมื่ออายุ ๑๕ ปี หลวงพ่อคล้าย ประสบอุบัติเหตุในการถางป่าทำไร่กระดูกปลายเท้า สามนิ้วแตกละเอียด รักษาไม่หาย ด้วยกำลังใจที่เด็ดเดี่ยว พ่อท่านคล้ายได้ใช้มีดตัดปลายเท้าออกด้วยตัวเอง และใช้ยาพอกจนหายเป็นปกติ




     ขาของพ่อท่านคล้ายนั้นเสียข้างหนึ่ง คือ ขาด้านซ้ายขาดตั้งแต่ตาตุ่มลงไป  (เสียตั้งแต่สมัยเด็กๆ โดนต้นไม้ทับที่บ้านญาติของท่านที่ จ.กระบี่ ขาเป็นหนองเลยต้องตัดทิ้ง โดยท่านใช้มีดปาดตาลตัดเอง) ท่านเลยต้องใส่กระบอกไม้ไผ่แทน

     พ่อท่านคล้าย ได้บรรพชาเป็นสามเณร เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ.2438 (อายุ 19 ปี) บรรพชาที่วัดจันดี ต.หลักช้าง บรรพชาโดยอาจารย์ พระอธิการจันเจ้าอาวาสวัดจันดี (ทุ่งปอน) และพ่อท่านสามารถท่อง พระปาฏิโมกข์จนได้แม่นยำ
     เมื่ออายุครบ ๒๐ ปี จึงอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ อุทกุกเขปสีมา หรือศาลาน้ำ ได้รับฉายาว่า จนฺทสุวณฺโณ โดยมีพระครูกราย คงคสุวณฺโณ เจ้าอาวาสวัดหาดสูง เป็นพระอุปัชฌาย์ แล้วได้ไปจำพรรษา อยู่ที่วัดทุ่งปอน หรือวัดจันดี     การศึกษาเบื้องต้น พระครูพิศิษฐ์อรรถการ เริ่มศึกษาเบื้องต้นที่บ้าน โดยบิดาเป็นผู้สอน เรียนวิชาคำนวณ และวิชาอักษรโบราณ จนสามารถอ่านออกเขียนชำนาญ ทั้งหนังสือไทยและหนังสือขอม ต่อมาศึกษาต่อในสำนักนายขำ ที่วัดทุ่งปอน บ้านโคกทือ จนจบหลักสูตร ต่อมาได้ไปฝึกหัดเล่นหนังตะลุงกับนายทองสาก ประกอบกับพ่อท่านคล้ายมีหน้าตาดี น้ำเสียงไพเราะ จึงมีคนติดใจการเล่นหนังตะลุงของท่านมาก
ต่อมาปี พ.ศ.2441 พ่อท่านคล้าย ได้เข้าศึกษาพระปริยัติธรรม แผนกบาลี เรียนมูลกัจจายนะ ในสำนักพระครูกาแก้ว (ศรี) ณ วัดหน้าพระธาตุ อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช จบหลักสูตรมูล พอแปลบาลีได้ ศึกษาอยู่เป็นเวลา 2 พรรษา
ปี พ.ศ.2443 ต่อมาได้ศึกษาทางวิปัสสนากัมมัฎฐานที่สำนักวัดสามพัน อำเภอพระแสง จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยมีอาจารย์หนูเจ้าอาวาสเป็นผู้สอน
ปี พ.ศ.2445 พ่อท่านคล้าย ได้กลับมาอยู่จำพรรษาวัดหาดสูง ใกล้ตลาดทานพอ ในสำนักพระครูกราย ซึ่งเป็นพระอุปัชฌาย์ของพ่อท่าน เพื่อศึกษาวิปัสสนาและไสยศาสตร์ โดยเหตุที่พระครูกราย เป็นอาจารย์ฝ่ายวิปัสสนาและทรงวิชาคุณทางไสยศาสตร์ในสมัยนั้น
ปี พ.ศ.2447 พ่อท่านคล้าย ได้ไปจำพรรษาที่วัดมะขามเฒ่า อำเภอระโนด จังหวัดสงขลาเพื่อศึกษาภาลีและอภิธรรมเพิ่มเติม
ปีพ.ศ.2448 พ่อท่านกลับจากวัดมะขามเฒ่า มาจำพรรษาอยู่ที่วัดทุ่งปอน (จันดี) ตลอดเวลาที่ท่านจำพรรษา ณ ที่ใดก็ตาม ท่านได้ศึกษาค้นคว้าภาษา บาลี วิชาโหราศาสตร์ และเจริญวิปัสสนากรรมฐาน ติดต่อกันมาโดยมิได้ประมาท ด้านการก่อสร้างก็ได้สร้างใว้ตามวัดต่างๆพอสมควร
พ่อท่านคล้าย เป็นเจ้าอาวาสวัดสวนขัน
ในปี พ.ศ.2448 พระปลัดคง เจ้าอาวาสวัดสวนขัน ลาสิกขาบท คณะอุบาสกอุบาสิกาของวัดสวนขัน ได้ร่วนกันเสนอไปยัง ท่านพระครูกรายเจ้าคณะแขวงฉวาง ขอแต่งตั้ง"พ่อท่านคล้าย"เป็นเจ้าอาวาส วัดสวนขันแทน ท่านพระครูกรายก็เสนอไปยังเจ้าคณะเมือง (ม่วง เปรียญ) ครั้งดำรงสมณศักดิ์เป็นเจ้าคุณพระศิริธรรมมุนี เจ้าคณะเมือง ได้แต่งตั้งให้พ่อท่านคล้ายเป็นเจ้าอาวาสวัดสวนขันแต่นั้นมา


    ประวัติวัดสวนขัน
   วัดสวนขันเป็นวัดราษฎร์ เดิมตั้งอยู่ที่ วัดราษฎร์บำรุง ปัจจุบันชาวบ้านเรียกวัดคุดด้วน เพราะตั้งอยู่ริมฝั่งคลองคุดด้วน มีพระปลัดคงเป็นเจ้าอาวาส แต่ที่ตั้งเป็นที่ไม่เหมาะบางประการ เนื่องจากฤดูน้ำก็ถูกน้ำท่วมบ่อยๆและสถานที่คับแคบ จึงทำการย้ายวัดขึ้นไปทางเหนือของคลองคุดด้วน สร้างวัดขึ้นมาใหม่ใน ป่าไม้ขันอันเป็นที่สวนของอุบาสกผู้มีศรัทธาถวายให้วัด และพร้อมใจกันตั้งชื่อวัดว่า วัดสวนขัน
   วัดสวนขันปัจจุบันตั้งอยู่ที่ ตำบลสวนขัน กิ่งอำเภอช้างกลาง จ.นครศรีฯ พระปลัดคงได้เป็นเจ้าอาวาสรูปแรก พระปลัดคงเป็นลูกศิษย์ของพระครูกราย ต่อมาลาสิกขาบทพระครูกรายเสนอพ่อท่านคล้ายให้เป็นพ่อท่านคล้าย ตลอดมาเป็นเวลา65ปี จนถึงวันมรณะภาพ
พ่อท่านเคยแต่งบทกลอนกำดัดสอนนาคใว้น่าฟังดังนี้

      ศีลสิบโดยตั้ง  รักษาโดยหวัง
      องค์ศีลทั่วผอง  สองร้อยยี่สิบเจ็ด
      สิ้นเสร็จควรตรอง  ศีลสิบหม่นหมองสองร้อยมรณา
    สมณศักดิ์พ่อท่านคล้าย
    ได้เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นตรีที่พระครูพิศิษฐ์อรรถการในปี พ.ศ.๒๔๙๘ ต่อมาได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูชั้นพิเศษในนามสมณศักดิ์เดิม แต่ประชาชนทั่วไปเรียกท่านตามชื่อเดิมว่า พ่อท่านคล้าย
    ตำแหน่ง
  - ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดสวนขัน ตำบลละอาย อำเภอฉวาง ใน พ.ศ. ๒๔๔๕ จนมรณภาพ
  - เป็นเจ้าอาวาสวัดธาตุน้อย ใน พ.ศ.๒๕๐๐ เนื่องจากมีการสร้างถนนผ่านกลางวัดจันดีหรือวัดทุ่งปอน ทำให้วัดถูกแบ่งออกเป็นสองส่วน ประชาชนได้ประชุมตกลงสร้างวัดใหม่ในเนื้อที่ที่แยกออกไป เรียกว่า วัดพระธาตุน้อย และแต่งตั้งให้พระครูพิศิษฐ์อรรถการ เป็นเจ้าอาวาส เมื่อท่านมรณภาพไปแล้ว วัดนี้ก็เป็นที่ประดิษฐานสรีระของท่านไว้ในโลงแก้ว

       
    งานด้านศาสนา     พระครูพิศิษฐ์อรรถการ เป็นผู้นำในการสร้างวัดพระเจดีย์ พระพุทธรูป และร่วมกันในการปฏิสังขรณ์บูรณะศาสนสถานเป็นจำนวนมาก ผลงานสำคัญ ดังเช่น สร้างวัด พ่อท่านคล้ายเห็นความสำคัญของปูชนียสถาน จึงได้สร้างวัดขึ้นหลายแห่ง ได้แก่ วัดมะปรางงาม ตำบลละอาย อำเภอฉวาง ใน พ.ศ. ๒๔๙๐ ต่อมา พ.ศ. ๒๕๐๐ ทายาทอึ่งค่ายท่าย ถวายที่ดิน และวัดที่สำคัญที่สุดคือวัดพระธาตุน้อย หรือคนทั่วไปเรียกว่า วัดพ่อท่านคล้าย
พ่อท่านคล้าย สร้างวัดพระธาตุน้อยและเจดีย์
 ปี พ.ศ.2505 นายกลับ งามพร้อม อดีตผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่9 ตำบลช้างกลาง อำเภอฉวาง ได้ยกที่ดินโคกไม้แดง มีเนื้อที่40ไร่ ถวายพ่อท่านโดยมอบให้เป็นที่ธรณีสงฆ์ที่ดินแปลงนี้อยู่ใกล้สถานีรถไฟคลองจันดี ประมาณ1กิโลเมตร พระครูพิศิษฐ์อรรถการได้สร้างเจดีย์องค์ใหญ่ขึ้นในที่ดินแปลงนี้ เริ่มก่อสร้างเมื่อ 14 มกราคม 2505 ตรงกับวันขึ้น 9ค่ำ เดือนยี่ ปีฉลู เพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ที่นายประคอง ช่วยเพ็ชร ถวายมาจากกว๊านพะเยา (ปัจจุบันเป็นจังหวัดพะเยา) โดยยึดรูปแบบมาจากวัดพระมหาธาตุทั้งหมด ทุนรอนในการก่อสร้างได้มาจาก พ่อค้า คหบดี ข้าราชการ และประชาชน ฝ่ายสงฆ์มีพระใบฏีกาครื้น โสภโณ เจ้าอาวาสวัดจันดีในสมัยนั้น เป็นผู้อำนวยการสร้าง ฝ่ายฆราวาสมี พล.ต.ต.ขุนพันธรักษ์ ราชเดช เป็นประธาน พระเจดีย์องค์นี้มีฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส กว้างด้านละ27เมตร สูง 70เมตร การก่อสร้างสำเร็จในปี พ.ศ. ๒๕๑๓ องค์พระเจดีย์ มองเห็นเด่นแต่ไกล ถ้านั่งรถไฟเข้าสู่กรุงเทพมหานคร ก่อนขบวนรถจะถึงสถานีคลองจันดี จะมองเห็นพระเจดีย์อยู่ทางซ้ายมือ
      พ่อท่านคล้ายได้สร้างพระเจดีย์ไว้หลายองค์ ได้แก่ เจดีย์วัดสวนขัน เจดีย์บ้านควรสวรรค์ ตำบลนาแว อำเภอฉวาง เจดีย์วัดยางค้อม อำเภอพิปูน และที่จังหวัดสุราษฏร์ธานี ได้แก่ เจดีย์วัดสวนขันอำเภอพระแสง และเจดีย์หน้าถ้ำขมิ้น บนภูเขาอำเภอนาสาร
    งานด้านพัฒนาท้องถิ่น
     พ่อท่านคล้าย จัดได้ว่าเป็นนักพัฒนาที่ยิ่งใหญ่ตลอดชีวิต ทำงานโดยไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ได้เดินทางไปพัฒนาในที่ต่าง ๆ มากมาย สร้างถนน สะพานมากมาย ด้วยเมตตาบารมีและความเคารพศรัทธาของศิษย์และประชาชน ดังเช่น
สร้างถนนเข้าวัดจันดี
ถนนจากตำบลละอายไปพิปูน
ถนนจากวัดสวนขันไปยังสถานีรถไฟคลองจันดี
ถนนจากตำบลละอายไปนาแว
ถนนระหว่างหมู่บ้านในตำบลละอาย
สะพานข้ามคลองคุดด้วนเข้าวัดสวนขัน
สะพานข้ามแม่น้ำตาปีจากตลาดทานพอไปนาแว
สะพานข้ามคลองเสหลา หน้าวัดมะปรางงาม
สะพานข้ามคลองจันดี เป็นต้น
 ด้านความมีเมตตาและวาจาสิทธิ์
ศิษย์ยานุศิษย์และประชาชนที่เคารพนับถือ ศรัทธาพ่อท่านคล้ายได้เชื่อถือถึงความศักดิ์สิทธิ์ของวาจา พูดอย่างไรเป็นอย่างนั้น พ่อท่านคล้ายจะพูดจากับทุกคนด้วยใบหน้ายิ้มแย้มและแจ่มใสอารมณ์เยือกเย็นอยู่ตลอดเวลา ท่านมักจะให้พรกับทุกคน "ขอให้เป็นสุข เป็นสุข" ผู้ที่เคารพนับถือท่านต่างพากันกลัวคำตำหนิ เพราะผู้ที่ถูกตำหนิทุกรายล้วนแต่พบความวิบัติ คนส่วนมากจึงหวังที่จะได้รับคำอวยพร เพราะคำเหล่านั้นเป็นการพยากรณ์ที่แม่นยำทั้งในทางดีและทางเสื่อมเสีย 
คนที่ไปนมัสการ"พ่อท่านคล้าย"หวังที่จะได้วัตถุมงคล พระเครื่อง บ้างขอน้ำมนต์ ชานหมาก แหวน ผ้ายันต์ เหรียญ รูปหล่อ รูปพิมพ์ ซึ่งพ่อท่านคล้ายก็ได้มีเมตตาให้กับทุกคน ยิ่งชานหมากของท่านหากใครได้รับจากมือท่านเป็นต้องหวงแหนอย่างที่สุด
  พ่อท่านคล้าย มรณภาพ
    พ่อท่านคล้ายหรือพระครูพิศิษฐ์อรรถการ เมื่อครั้นถึงวันที่ 22 พฤศจิกายน 2513 ตรงกับแรม 9ค่ำ เดือน12 ปีจอ พ่อท่านจะต้องเดินทางไปจังหวัดสุรินทร์ เนื่องในงานพุทธาภิเษกที่คณะพุทธบริษัท จังหวัดนั้นนิมนต์ใว้ เวลา 16.00 น. ของวันเดินทาง คณะศิษย์เป็นว่าพ่อท่านอาพาธกระทันหัน จึงนิมนต์พ่อท่านขึ้นรถด่วนเข้ากรุงเทพ ถึงวันรุ่งขึ้นได้นำพ่อท่านเข้าโรงพยาบาลพระมงกุฎในวันนั้น แพทย์ได้พยายามรักษาจนเต็มความสามารถ เป็นเวลา14วัน อาการมีแต่ทรงกับทรุด ครั้งถึงวันที่ 5 ธันวาคม 2513 เวลา23.05 น. พ่อท่านคล้าย มรณะภาพด้วยอาการสงบ รวมอายุได้ ๙๖ ปี เมื่อบำเพ็ญกุศลครบ ๑๐๐ วัน จึงได้บรรจุสรีระของท่านไว้ในโลงแก้ว ประดิษฐานอยู่ในองค์พระเจดีย์ในวัดพระธาตุน้อยจนถึงปัจจุบัน

ถ่ายภาพโดย พลากร